ทำไม 'สปุตนิกวี' พ่ายสมรภูมิการค้าวัคซีนโควิด ‘อาเซียน’
จีน และสหรัฐ ช่วงชิงพื้นที่การค้าวัคซีนโควิด-19 เหนือทะเลจีนใต้ ไล่จรดถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ขณะนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางการแข่งขันในเชิงอำนาจ และยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สูงทั่วภูมิภาค
สำนักข่าวแชนแนล นิวส์เอเชีย เผยแพร่บทวิจารณ์ของ "ยูซุฟ อิชัค" สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ซึ่งเป็นองค์กรวิชาการอิสระในประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า ไม่น่าแปลกใจที่บางประเทศแสดงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยใช้การทูตวัคซีนโควิด-19 หวังทำคะแนนให้ประเทศตนเอง
ประเทศผู้เล่นหลัก ที่ว่านี้คือ "สหรัฐ และจีน" ตามที่ได้เห็นสงครามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิด รวมทั้งท่าทีสองมหาอำนาจที่แสดงความเอื้อเฟื้อ โดยการส่งการมอบวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศในอาเซียน
ช่วงเริ่มต้น ดูเหมือนว่า สหรัฐจะเป็นผู้นำด้านวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายเชื้อรวดเร็ว ซึ่งทำได้ดีกว่าวัคซีนซิโนแวค และซิโนฟาร์มของจีน
ส่วนจีน อวดอ้างยอดการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ไปยังอาเซียนมากกว่า 190 ล้านโดส มากกว่าสหรัฐที่จัดส่งวัคซีนอยู่ 20 ล้านโดส โดยรัฐบาลวอชิงตันชี้ว่า ส่วนใหญ่วัคซีนที่สหรัฐมอบให้ฟรี
ขณะที่ “รัสเซีย” อีกหนึ่งผู้เล่นหลักในเกมวัคซีนการทูต เพราะถือว่าเป็นประเทศใหญ่ และพยายามยกระดับเกมในภูมิภาคนี้ แม้ว่า จะมีการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ แต่การโฆษณาวัคซีนก็ทำไม่ดีเท่า เมื่อเทียบกับจีน และสหรัฐ
รัสเซีย เป็นประเทศแรกที่อนุญาตใช้วัคซีนโควิด-19 “สปุตนิกวี” ในเดือน ส.ค. 2563
สถาบันกามาเลยา ซึ่งพัฒนาวัคซีนชนิดนี้ เผยแพร่ประสิทธิภาพในขั้นต้นอยู่ที่ 91.6% และผลการศึกษาจริง 97.6%
เมื่อเดือนมิถุนายน ทางสถาบันกามาเลยา เปิดประสิทธิภาพวัคซีนต้านสายพันธุ์เดลตาได้ 90% ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขรัสเซียได้ปรับลดประสิทธิภาพลงอยู่ที่ 83 % แต่ประสิทธิภาพวัคซีนสปุตนิก ก็สามารถเทียบได้กับไฟเซอร์-ไบออนเทค โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า แต่สูงกว่าวัคซีนจีน
ปลายปี 2563 รัสเซียได้เร่งทำข้อตกลงจัดหาวัคซีนให้หลายประเทศทั่วโลก แต่หลังจากนั้นไม่ได้นาน มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับวัคซีนสปุตนิก ในรัสเซีย และต่างประเทศ
แม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในรัสเซียเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังคงต่ำมาก เนื่องจากปัญหาความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐบาลรัสเซีย กับประชาชน รวมถึงผลข้างเคียงจากวัคซีน
ในวันนี้ มีประชาชนรัสเซียฉีดวัคซีนครบโดสเพียง 19% ก็ถือว่าน้อยมาก และไม่อาจหยิบไปใช้โฆษณาวัคซีนให้กับสปุตนิกได้
ที่สำคัญคือ ปัญหาคอขวดที่เกิดหลังการผลิตวัคซีน เพราะรัสเซียไม่มีภาระผูกพันในการส่งมอบวัคซีน ทำให้ลูกค้าบางรายในละตินอเมริกา และแอฟริกาไม่พอใจ จากจำนวนวัคซีน 900 ล้านโดสที่รัสเซียสัญญาว่า จะส่งออกภายในสิ้นปี 2564 จนถึงปัจจุบันมีการส่งมอบน้อยกว่า 17 ล้านโดส
นอกจากนี้ ราคาวัคซีนสปุตนิกที่ค่อนข้างสูง ชนิดสองโดสอยู่ที่ 20 ดอลลาร์ ก็ยังมีราคาแพงกว่าวัคซีนไฟเซอร์ ราคาอยู่ที่ 13 ดอลลาร์ แอสตร้าเซเนก้าราคา 6 ดอลลาร์ และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ราคา 10 ดอลลาร์
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ “สปุตนิกวี” ล้มเหลวในการรุกตลาดวัคซีนโควิด-19 อาเซียน