ดีมานด์แบรนด์จีนพุ่งหนุนยอดขาย'ออร์เนอร์'โต

ดีมานด์แบรนด์จีนพุ่งหนุนยอดขาย'ออร์เนอร์'โต

ออร์เนอร์ ดีไวซ์ แบรนด์สมาร์ทโฟนจีนที่แตกกิจการมาจากหัวเว่ย เทคโนโลยีส์และพยายามเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐด้วยการไม่ใช้ชิพและระบบปฏิบัติการของบริษัทอเมริกัน มียอดขายในตลาดจีนเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งหลังจากเผชิญความยากลำบากในการทำตลาดในระยะเริ่มแรก

การฟื้นตัวของยอดขายหนุนให้บริษัทเดินหน้าพัฒนามือถือรุ่นใหม่ๆออกสู่ตลาด อาทิ มือถือซีรีส์ล่าสุดเมจิก3 ซึ่งบริษัทจำหน่ายที่ราคาเครื่องละ 7,999 หยวน (1,229 ดอลลาร์) และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวจีนในกวางโจวอย่างมาก ส่งผลให้มือถือรุ่นนี้จำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็วเมื่อวันศุกร์(20 ส.ค.) ถือเป็นการทำยอดขายมือถือราคาแพงที่สุดของบริษัทที่ประสบความสำเร็จ

“ตอนนี้สินค้าในคลังสินค้าของเราหมดเกลี้ยง ถ้าสั่งจองตอนนี้ก็ต้องรอกันนานเลยทีเดียว ”โฆษกของออร์เนอร์ ดีไวซ์ กล่าว

การวางจำหน่ายมือถือรุ่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการตลาดระยะสามปีของมือถือรุ่นเมจิกที่มีราคาเริ่มต้นที่ 4,599 หยวน โดยมือถือรุ่นนี้ใช้ชิพของควอลคอมม์และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ พร้อมด้วยกล้องด้านหลัง4ตัว

“เป้าหมายของเราที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้คือต้องการแข่งขันกับแอ๊ปเปิ้ลให้ได้ หรือมียอดขายแซงหน้าแอ๊ปเปิ้ล”จอร์จ จ้าว ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ฝ่ายปฏิบัติการด้านแบรนด์ของออร์เนอร์ ดีไวซ์ กล่าวระหว่างเปิดตัวสมาร์ทโฟนซีรีส์เมจิก3เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

หัวเว่ยก่อตั้งออร์เนอร์ครั้งแรกในปี 2556 ในฐานะมือถือที่จำหน่ายเฉพาะทางออนไลน์แต่สุดท้ายก็ขยายการจัดจำหน่ายไปยังร้านออฟไลน์เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแบรนด์ออร์เนอร์ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศรวมทั้งในยุโรป โดยในปี2562 มียอดขายอยู่ที่ 70 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 30% ของยอดขายสมาร์ทโฟนโดยรวมของหัวเว่ย และในฐานะแบรนด์สแตนอะโลน ออร์เนอร์ติดอันดับที่7ของแบรนด์สมาร์ทโฟนโลก

แต่ในเดือนก.ย.ปี2563 กระทรวงพาณิชย์สรัฐ ออกมาตรการคุมเข้มทางการค้ากับหัวเว่ย ถือเป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้าแก่กลุ่มผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมชั้นนำของโลกแห่งนี้อย่างมากจนส่งผลให้ประสบปัญหาด้านการจัดซื้อจัดจ้างเซมิคอนดักเตอร์และรายได้ในธุรกิจสมาร์ทโฟนก็ร่วงลง

หัวเว่ย ตัดสินใจแตกกิจการออร์เนอร์เพื่อปกป้องแบรนด์จากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว กลุ่มร่วมทุนที่เกิดจากความร่วมมือของผู้จัดการสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนครเสิ่นเจิ่้นและตัวแทนจำหน่ายสมาร์ทโฟนหลายสิบแห่งได้เข้าครอบครองออร์เนอร์

หลังจากถูกกลุ่มบริษัทอื่นเข้าครอบครองกิจการ ออร์เนอร์ก็แยกตัวออกมาและได้มรดกจากหัวเว่ยคือพนักงานประมาณ 8,000 คนรวมทั้งพนักงานฝ่ายจัดจำหน่าย ฝ่ายวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) ล่าสุด บริษัทยืนยันว่าไม่ได้มีสายสัมพันธ์ทางด้านเงินทุนกับหัวเว่ยอีกแล้ว

เคาท์เตอร์พอยท์ บริษัทวิจัยด้านอุตสาหกรรมในฮ่องกง ระบุว่า ในเมื่อไม่มีหัวเว่ยคอยเป็นแรงหนุนอันทรงพลัง ออร์เนอร์ก็เจอปัญหาส่วนแบ่งตลาดในจีนปรับตัวร่วงลงเพราะยอดขายสมาร์ทโฟนดิ่ง ส่วนแบ่งตลาด 13% ของออร์เนอร์ในไตรมาส3ของปี 2563 ร่วงลงเหลือ 5% ในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่พอมาถึงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดของออร์เนอร์กระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่กว่า 8%

แม้สมาร์ทโฟนหัวเว่ยไม่สามารถรวมแอพฯของกูเกิลได้สืบเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการค้าของสหรัฐแต่ข้อห้ามนี้ไม่ครอบคลุมถึงออร์เนอร์เพราะฉะนั้นบริษัทใหม่จึงเร่งพัฒนาอุปกรณ์“ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับหัวเว่ย”ทันที

ผลิตภัณฑ์แรกหลังจากแยกตัวออกมาจากหัวเว่ยคือสมาร์ทโฟน วี40 ที่เปิดตัวเมื่อเดือนม.ค.ตามมาด้วยสมาร์ทโฟนซีรีส์ต่างๆซึ่งได้รับการตอบรับอย่างคึกคักนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนมิ.ย.

“อีวาน แลม”นักวิเคราะห์อาวุโสจากเคาท์เตอร์พอยท์ ให้ความเห็นว่า ออร์เนอร์อาจจะครองส่วนแบ่งตลาดได้ประมาณ 12% ในตลาดจีนในช่วงเดือนพ.ย.หรือไม่ก็เดือนธ.ค.และบรรดาตัวแทนจำหน่ายสมาร์ทโฟนที่มีบทบาทมากขึ้นเพราะกลายเป็นผู้ถือหุ้นหลักๆในออร์เนอร์เมื่อบริษัทแยกตัวออกมาเป็นอิสระอาจจะช่วยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้แก่ออร์เนอร์ได้มาก

ขณะที่กิจกรรมต่างๆของออร์เนอร์ในต่างประเทศจะกลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจ โดยเทรนด์ฟอร์ซ บริษัทข้อมูลด้านการตลาดสัญชาติไต้หวัน คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพ.ย.ว่า ออร์เนอร์จะครองสัดส่วนในการผลิตสมาร์ทโฟนทั่วโลกปีนี้ที่ 2% ขณะที่คาดการณ์ว่าหัวเว่ยจะมีสัดส่วนการผลิตอยู่ที่ 4%