สธ.ชง 3 เกณฑ์ 'โควิดฟรี' คนต้องมี ก่อนเข้าร้านอาหาร-เดินทาง
สธ.ชงมาตรการ‘โควิดฟรี’ เข้มเปิดกิจการ คนให้-คนใช้บริการฉีดวัคซีนครบ , ติดเชื้อหายใน 1-3 เดือน และ ผลตรวจATKเป็นลบ พกบัตรเขียว-เหลืองแสดงตัว นำร่องร้านอาหารนั่ง 50% ถึง 2 ทุ่ม กต.เจรจาซื้อแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์จากยุโรปเพิ่ม2-3ล้านโดส/เดือน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 ส.ค.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินกรณีโรคโควิด 19(ศปก.สธ.) ว่า สถานการณ์โควิด 19 ขณะนี้หมายถึงว่าประเทศไทยน่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว ยังอยู่ในช่วงที่มีการระบาดต่อเนื่อง แต่แนวโน้มในทิศทางที่ค่อยๆลดลง ยังต้องขอความร่วมมือประชาชนและกิจการต่างๆให้พยายามคงมาตรการต่างๆ และร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อให้การติดเชื้อไม่รุนแรงขึ้นเหมือนที่ผ่านมา และพยายามไม่ให้เกิดสถานการณ์นี้อีกในอนาคต เนื่องจากบทเรียนครั้งนี้รุนแรงและมีผลกระทบในวงกว้าง
ชงศบค.เข้ม 2 มาตรการเปิดกิจการ
ในการประชุมศบค.วันที่ 27 ส.ค. 2564 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จะเสนอมาตรการที่จะทำให้ลดอัตราการติดเชื้อแต่ละวันลงและไม่ให้กระดกหัวขึ้นมาอีก เป็นใช้มาตรการเหล่านี้เพื่อให้อยู่กับโควิดได้ และจะทำให้สามารถเปิดกิจการบางอย่างที่มีความเสี่ยงน้อย มีความสำคัญ เช่น ร้านอาการ กีฬากลางแจ้ง หรือการเดินทาง เป็นต้น โดยจะต้องมีมาตรการต่างๆที่สธ.เข้าไปดำเนินการ เพื่อลดความเสี่ยง ลการแพร่และติดเชื้อ
มาตรการป้องกันตัวเองตลอดเวลา
มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย สำหรับประชาชนทุกคน จะต้องใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID-19 เป็นการระมัดระวังตวขั้นสูงสุดตลอดเวลาทั้งบุคลากรทางการแพทยืและประชาชนทั่วไป เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่า ถ้าออกไปอยู่ภายนอกบ้านระหว่างคนที่ไม่รู้ก็จะระวัง แต่กับคนรู้จักไม่ค่อยระวัง จึงเกิดการติดเชื้อระหว่างคนในครอบครัวนำสู่การติดเชื้อในที่ทำงาน จากการที่คิดว่าเขาไม่มีเชื้อ ก็ลดการป้องกันตัวเอง เช่น ลดหน้ากาก ทานอาหารร่วม คุยนาน ทำให้มีโอกาสติดและแพร่เชื้อได้ เพราะฉะนั้นต้องคำนึงว่าคนรอบตัวเรา แม้สนิทแค่ไหนอาจเป็นคนติดเชื้อและแพร่เชื้อให้เราได้ เพราะฉะนั้นต้องป้องกันสูงสุดตลอดเวลา ไม่ให้แพร่และติดเชื้อ ทุกคนต้องมีจิตสำนึกว่าคนรอบตัวมีโอกาสติดและแพร่เชื้อให้เราได้ เช่นเดียวกันเราอาจจะติดและมีโอกาสแพร่เชื้อได้
ข้อปฏิบัติในการป้องกันตัวเองตลอดเวลา ป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล คือ 1.ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น 2.ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็นน้อยครั้งและใช้เวลาสั้นที่สุด 3.เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่ 4. สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน 5.หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก โดยไม่จำเป็น 6.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม ไอจาม หรือสัมผัสวัตถุ/ สิ่งของ ที่ใช้ร่วมกัน
7.ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข้างของเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ 8.แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น 9.เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสำรับ หากทานร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และ10.หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ที่อาจติดเชื้อ หรือมีอาการ ควรได้รับการตรวจด้วยATK บ่อยๆ เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่โดยหากมีความเสี่ยงมากตรวจทุก 3 วัน หากเสี่ยงน้อยตรวจทุก 7 วัน หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
สำหรับมาตรการที่จะเสนอให้ดำเนินการในสถานประกอบการและผู้เข้าไปใช้บริการในสถานประกอบการต่างๆนั้น สธ.ได้ยกระดับเรื่องมาตรการในการทำให้กิจการต่างๆเพื่อให้ดำเนินการๆไปได้ เพราะไม่อยากให้ล็อกดาวน์หรือปิดกิจการต่อไป ซึ่งหากได้ความร่วมมืออย่างดีจากเจ้าของและผู้ใช้บริการก็ดำเนินการต่อไปได้ เบื้องต้นจะนำร่องในพื้นที่สีแดงเข้มอย่างกรุงเทพฯและปริมณฑลก่อน คือ หลักการโควิดฟรี(COVID-Free Setting) และมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล (Universal Prevention) เป็นการวางมาตรการเข้าไปในสถานประกอบการหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เปิดกิจการ กิจกรรมให้ปลอดภัยและยั่งยืน ประกอบด้วย 1.มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล (Universal Prevention) ต้องดำเนินการทุกคนทุกพื้นที่
มาตรการ'โควิดฟรี'เข้าใช้บริการ
2. มาตรการองค์กร ในเรื่อง โควิดฟรี แยกเป็น ด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีการเว้นระยะห่าง จัดระบบระบายอากาศ สุขอนามัย สะอาดปลอดภัย ดำเนินการทุกพื้นที่
ด้านผู้ประกอบการ/พนักงาน ในส่วนของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด จะต้องมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือติดเชื้อแล้วพ้นระยะการแพร่เชื้อแล้วโดยอยู่ในช่วงหลังติดดเชื้อประมาณ 1-3 เดือนแล้ว ถือว่ามีภูมิคุ้มกันแล้ว หากไม่ใช่ทั้ง 2 ส่วนจะต้องมีการตรวจเช็คสามารถตรวจด้วยวิธีมาตรฐานRT-PCR หรือ ชุดตรวจด้วยตนเอง ATK ถ้าเสี่ยงมากตรวจทุก 3 วัน เสี่ยงน้อยตรวจทุก 7 วัน
และ ด้านผู้รับบริการ/ลูกค้า ต้องมี "บัตรสีเขียว" (Green Card) โดยเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นบัตร หรือดิจิตัลการ์ด แสดงการได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยสามารถได้ใบรับรองฉีดวัคซีน 2 เข็มในระบบหมอพร้อมอยู่แล้ว หรือถ้าไม่มีขอใบรับรองได้เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม หากมีใบเขียวนี้ก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้สะดวกใจ หรือมี "บัตรเหลือง" ที่เป็นบัตรชั่วคราว ซึ่งแสดงว่าเป็นผู้ที่เคยติดเชื้อและหายแล้วอยู่ในช่วงมากกว่า 1-3 เดือนสามารถขอใบรับรองแพทย์เป็นการระบุว่ามีภูมิคุ้มกันแล้ว เมื่อพ้นระยะดังกล่าวก็ไปฉีดวัคซีน
กรณีที่จะเข้าไปใช้บริการหากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อ ก็ต้องโควิดฟรี อาจจะต้องมีการตรวจด้วย ATK บริเวณหน้าสถานประกอบการนั้น หรือทำเองที่บ้าน ถ้าทำแล้วผลเป็นลบ ผู้ประกอบการออกเป็นบัตรเหลืองให้ใช้ได้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เป็นการที่จะทำให้ปลอดภัยในการเข้าไปใช้บริการ โดยในส่วนของลูกค้านี้จะเริ่มดำเนินการนำร่องในพื้นที่กทม.และปริมณฑลก่อน
ชงร้านอาหารนั่งทาน 50%ถึง 2 ทุ่ม
“จะเริ่มได้เมื่อไหร่อยู่ที่ศบค.จะพิจารณา ซึ่งหลังจากให้เปิดกิจการต่างๆจะมีกิจการต้นแบบและใช้เป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคต เพื่อให้ใช้ระบบนี้ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ซึ่งมีหลายกิจการเสนอตัวเข้ามาแล้วที่จะใช้ระบบนี้ ก็ได้รับการสนับสุนนจากสธ.เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินการ และในระยะแรกมาตรการเป็นลักษณะของการแนะนำให้ปฏิบัติก่อน โดยมีระยะเวลาของการปรับตัว จากนั้นอาจจะเป็นการบังคับต่อไป ซึ่งในกรณีร้านอาหารที่ต้องใช้มาตรการนี้ คือร้านที่เป็นระบบปิด ซึ่งเบื้องต้นเสนอให้มีการนั่งทานได้ 50 % เปิดได้ถึง 2 ทุ่ม ส่วนผู้ที่ไม่มีโควิดฟรีข้อใดข้อหนึ่งตามที่กำหนด หากไปใช้บริการร้านอาหารต้องซื้อกลับบ้านเท่านั้น” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ซื้อต่อวัคซีนจากยุโรป 2-3ล้านโดส/ดือน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ในการจัดหาวัคซีนโควิด 19 เพิ่มเติม กระทรวงการต่างประเทศ (กต.)ได้พยายามที่จะช่วยจัดหาวัคซีน โดยเป็นการเจรจาในภาคพื้นยุโรป เป็นการขายต่อมา เนื่องจากประเทศดังกล่าว มีพอใช้แล้วหรือสั่งมาจำนวนมากเกินกว่าที่ต้องใช้ ก็มาจำหน่ายให้ประเทศไทยเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ จะสามารถขายให้ได้เดือนละ 2-3 ล้านโดส ในระยะเวลา 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งกรมควบคุมโรคจะพิจารณาและดำเนินการต่อไป เพื่อให้มีวัคซีนมีเพิ่มขึ้น ขณะนี้จากการคำนวณวัคซีนใน 4 เดือนที่เหลือของปี 2564 ประเทศไทยจะมีวัคซีนเข้ามาค่อนข้างมาก และสามารถดำเนินการฉีดให้คนไทยได้มากกว่า 100 ล้านโดส ทำให้มีภูมิคุ้มกันในระดับที่ต้องการได้ต่อไป
ไม่ปรับระดับพื้นที่สี
ผู้สื่อข่าวถามว่า สธ.มีการเสนอปรับระดับพื้นที่สีด้วยหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ยังไม่ได้เสนอให้ปรับสี เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่ายังมีการติดเชื้อระดับสูงอยู่ แม้มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ละวันยังอยู่ที่ 17,000-18,000 ราย ซึ่งประชาชนต้องตระหนักว่าสถานการณ์ยังต้องจับตาอยู่ และร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการต่างๆอย่างเคร่งครัดต่อไป
ถามต่อว่าการใช้มาตรการโควิดฟรีจะวุ่นวายหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า บุคคลที่จะใช้บริการต้องเตรียมพร้อม เพราะยุคถัดไปต้องเป็นแบบนี้ ขณะที่สถานประกอบการต้องมี ATK เอาไว้ให้ด้วย อย่างกรณีที่หารือกับสายการบินว่า การท่าอากาศยานจะมีเป็นล็อกๆไว้ราว 20 ล็อก ไว้เป็นสถานที่ตรวจATKก่อนเดินทาง แล้วจัดหาATKในราคาไม่ให้เกิน 100 บาท หรือตามราคาATKหากต่ำกว่านั้น ให้บริการผู้เดินทางที่อาจจะไม่ได้ตรวจจากบ้าน เป็นการทำด้วยตนเองและมีเจ้าหน้าที่ออกบัตรเหลืองให้ใช้ได้ 7 วัน เป็นต้น
สำหรับการเข้าถึง ATK ของประชาชน ส่วนหนึ่งจะได้รับแจกฟรีจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จัดซื้อ 8.5 ล้านชุด และส่วนหนึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ด้วยตนเอง และเชื่อว่าเมื่อชุดตรวจผ่านอย.มากขึ้นและมีการใช้มากขึ้น ราคาจะถูกลง หรือกรณีข้าราชการทุกคน สามารถเบิกค่าATKได้ เมื่อตรวจแล้วหน่วยงานก็ออกบัตรเหลืองใช้ได้ อีกส่วนก็จะเป็นการจัดหาไว้ให้บริการโดยผู้ประกอบการต่างๆที่เป็นกลุ่มบริษัทหรือสมาคมต่างๆ ที่จะจัดซื้อจัดหาเข้ามาได้ โดยผ่านอย.รับรองและราคาไม่แพง อาจจะบริการฟรีหรือคิดเพิ่มเติมเพื่อร่วมมือในการป้องกันโรคต่อไป
“ทั้งหมดต้องอาศัยความซื่อสัตย์ของบุคคลในการตรวจรับรองด้วยตนเองในการตรวจATK และทุกคนต้องรับรู้ว่า การที่จะพ้นจากสภาวะแบบนี้ทุกคน ต้องมีวินัยและรับผิดชอบร่วมกัน ที่จะพาประเทศก้าวข้ามภาวะนี้ ก้าวสู่วิถีใหม่ต่อไป และการดำเนินการมาตรการจะต้องมีระบบติดตาม ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็ต้องเข้มงวดมาตรการขึ้นมาอีก ทุกคนต้องเข้าใจและร่วมมือกัน”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
สถานการณ์โควิด19
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกติดเชื้อ 214,673,158 ราย เสียชีวิต 4,475,017 ราย อย่างไรก็ตาม ประเทศภาคพื้นยุโรป ประเทศอิตาลี และเยอรมนี ซึ่งเยอรมนีติดไปหมื่นกว่าราย แต่เสียชีวิตน้อย สำหรับประเทศไทยติดเชื้อวันนี้ 18,501 ราย ค่าเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 18,716 ราย หายป่วยมากกว่าผู้ติดเชื้อ โดยวันนี้หายป่วย 20,606 ราย แต่ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจยังอยู่ในระดับสูง ส่วนผู้เสียชีวิต 229 ราย ค่าเฉลี่ยเสียชีวิต 7 วัน อยู่ที่ 247 ราย
หลังจากล็อกดาวน์มาขณะนี้ก็ประมาณ 4 สัปดาห์ เ ผลการล็อกดาวน์น่าจะมีประสิทธิภาพระหว่าง 20-25% ซึ่งจะต้องพิจารณาไปอีกระยะหนึ่ง โดยต้องขอขอบคุณความร่วมมือทุกส่วน ส่วนอัตราการเสียชีวิต ยังสูงในผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงในแต่ละวัน ซึ่งสามารถลดได้ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเหล่านี้ โดยปัจจุบันมีกทม. เท่านั้นที่ฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุตามเป้าหมายกว่า 90 % แต่ต่างจังหวัดยังอยู่ในอัตราต่ำ จึงต้องพยายามเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มนี้