‘ทีเส็บ’เร่งฟื้นอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ‘ยกระดับ-ต่อยอด’ชิงโอกาสคู่แข่งอาเซียน
ในสถานการณ์ปกติเมื่อปี 2562 อุตสาหกรรมการจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และจัดแสดงสินค้า หรือ “ไมซ์” (MICE) ของประเทศไทยก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เกิดค่าใช้จ่ายกว่า 559,840 ล้านบาท!
แบ่งเป็นไมซ์ในประเทศมูลค่า 279,330 ล้านบาท ไมซ์ต่างประเทศมูลค่า 280,510 ล้านบาท โดยคิดเป็น 3.27% ของจีดีพี
แต่เมื่อวิกฤติโควิด-19 ลากยาว! ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์ไทยในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-มี.ค.2564) พบว่ามีจำนวนนักเดินทางไมซ์ต่างชาติลดลงประมาณ 90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบฯ 2563 ขณะที่รายได้จากนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศของครึ่งแรกปีงบฯ 2564 ลดลง 90% ส่วนจำนวนนักเดินทางไมซ์ภายในประเทศลดลง 60% ทำให้รายได้จากนักเดินทางไมซ์ภายในประเทศลดลง 70%
หลังจากปี 2563 การระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยสูญเสียโอกาสการสร้างรายได้มากกว่า 70% เมื่อเทียบกับรายได้ปี 2562 จนผู้ประกอบการไมซ์ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ มุ่งสู่การจัดงานแบบ “ไฮบริด” ลูกผสมระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์!
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในปีงบฯ 2565 (ต.ค.2564-ก.ย.2565) หลังวิกฤติโควิด-19 สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยทางทีเส็บได้ศึกษาวิจัยแนวโน้มภาพกว้างของนักเดินทางไมซ์ พบว่ามีความต้องการชัดเจนยิ่งขึ้น มองหา “ความคุ้มค่า” เป็นสำคัญ!
โดยตลาดการจัดประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลจะเลือกโรงแรมที่มีขนาดเล็กลงหรือเล็กพอที่จะอยู่เฉพาะกลุ่มของตัวเองได้ ส่วนตลาดการจัดสัมมนายังคงต้องจัดงานแบบไฮบริดหรือเวอร์ชวล (Virtual) แบบนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ก็ต้องเตรียมการจัดงานสัมมนาให้ดีขึ้น คำนึงถึงผลลัพธ์และประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ตลาดจัดแสดงสินค้า ผู้จัดจะเลือกงานที่มีคุณภาพมากขึ้น มีโอกาสทางธุรกิจที่ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม ด้านตลาดการจัดงานเทศกาลและเมกะอีเวนท์ต่างๆ ที่มีการรวมคนจำนวนมาก จะเกิดขึ้นเมื่อมีความปลอดภัยเรื่องโควิด-19 เพียงพอ
ทีเส็บจึงวางทิศทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปีงบฯ 2565 เพื่อเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ และเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากวิกฤติผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก เริ่มจากกลยุทธ์การเสริมความแกร่งระดับชาติ ทีเส็บเร่งยกระดับความพร้อมของจังหวัดที่มีศักยภาพ ก้าวสู่การรองรับกิจกรรมไมซ์ พร้อมกับการสร้างงานใหม่ และยกระดับกิจกรรมไมซ์ให้มีคุณภาพระดับนานาชาติ โดยร่วมทำงานกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เช่น โครงการ Empower Thai Exhibition หรือ EMTEX ซึ่งได้ขยายความร่วมมือระหว่างทีเส็บกับกระทรวงต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่าสิบหน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพงานแสดงสินค้าในระดับท้องถิ่นก้าวสู่ระดับประเทศ ตลอดจนการพัฒนางานเทศกาลท้องถิ่นภายใต้แนวคิด Festival Economy ที่จะพัฒนางานต่อยอดสู่ระดับสากล “1 City : 1 License Event”
พร้อมกันนี้ยังดำเนินงานด้านการสื่อสารเพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนองค์กรภาครัฐและเอกชนจัดประชุมสัมมนาและจัดกิจกรรมไมซ์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านแคมเปญการสื่อสาร “จัดงานไมซ์ทั่วไทย ภูมิใจช่วยชาติ” และสนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” ซึ่งในขณะนี้มีองค์กรและหน่วยงานได้รับการสนับสนุนแล้วกว่า 645 โครงการ และแสดงความจำนงมากกว่า 1,000 งาน
กลยุทธ์การช่วงชิงโอกาสระดับสากล มุ่งเน้นการผลักดันไมซ์ไทยสู่เวทีโลก จัดทำแคมเปญตลาดเชิงรุกเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในภูมิภาคอาเซียน โดยการประกาศปีแห่งการประชุมในประเทศไทยด้วยการต่อยอดจากการเป็นเจ้าภาพจัดงาน APEC 2022 อีกทั้งจะเร่งดึงงานสำคัญระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย อาทิ งาน Thailand International Air Show, งานประชุมองค์กรระหว่างประเทศ เช่น งาน World Bank หรืองานแสดงสินค้าระดับท็อป 5 ของโลก
และกลยุทธ์การยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรม มุ่งสานต่อการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการไมซ์ และหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐในและต่างประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร มาตรฐานสถานที่จัดงาน และการพัฒนาหลักสูตรอบรมต่างๆ เพื่อให้ไมซ์ไทยก้าวทันความต้องการของโลกในยุคหลังโควิด เช่น การยกระดับมาตรฐานและส่งเสริม “การจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน” โดยนำแนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล มาต่อยอดกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ขณะเดียวกันส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีและเครื่องมือแพลตฟอร์มดิจิทัลต่อเนื่อง