วิเคราะห์ '8 นโยบายเกษตร' สร้างมูลค่าต่ำกว่าเม็ดเงินงบลงทุน

วิเคราะห์  '8 นโยบายเกษตร'   สร้างมูลค่าต่ำกว่าเม็ดเงินงบลงทุน

หลากหลายรูปแบบที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาภาคการเกษตร แต่ผลวิเคราะห์ 8 นโยบายสาธารณะปี 63 ที่ใช้งบบกว่า 1.8 แสนล้านบาทต่อปี แต่สร้างมูลค่าได้เพียง 1.06 แสนล้านบาทต่อปีเท่านั้น ส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการน้ำ และไม่ได้ลดหนี้ให้เกษตรกรได้แต่อย่างใด

นาย วิษณุ อรรถวานิช  อาจารย์ และนักวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   เปิดเผยว่าในอดีตภาคการเกษตรมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งจ้างงาน แหล่งรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออก การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอดีตทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร GDP ภาคเกษตรในปี 2563 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 8.63%  แต่ภาคการเกษตรถือเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ 12.62ล้านคนและมีครัวเรือนในภาคเกษตร 8.06 ล้านครัวเรือน

163006547848

ปัจจุบันเกษตรกรได้นำเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น แต่การผลิตในภาคเกษตรไทยยังมีปัจจัยภายนอกอีกหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตของเกษตรกร   เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือนเกษตร รัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ใช้นโยบายเกษตรในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแทรกแซงราคาตลาด การส่งเสริมการเรียนรู้ การส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเชิงพื้นที่ ส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งนโยบายต่างๆใช้งบประมาณในแต่ละปีจำนวนมาก

โครงการวิจัยและประเมินครั้งนี้ ได้หยิบยกผลกระทบของ 8 นโยบายสาธารณะที่หลากหลาย ต่อความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย   คือ  1. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 2. แปลงใหญ่ 3. การบริหารจัดการน้ำ 4. แผนการผลิตข้าวครบวงจร 5. Zoning by Agri-Map 6. ธนาคารสินค้าเกษตร 7. มาตรฐานสินค้าเกษตร GAP/ เกษตรอินทรีย์ และ 8. โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่

ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรมีความแตกต่างของรายได้ทางตรงจากการเข้าร่วมแต่ละนโยบายของครัวเรือนเกษตรเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่ได้เข้าร่วม ในโครงการแปลงใหญ่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 128,018 บาทต่อครัวเรือนต่อปี การบริหารจัดการน้ำ มีเพิ่มรายได้ 397,793 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่แผนการผลิตข้าวครบวงจร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 67,637 บาทต่อครัวเรือนต่อปี  นโยบาย Zoning by Agri-Map ลดรายได้26,443 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดรายได้237,759 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ส่วนนโยบายอื่นๆ ที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้รายได้ของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

ในด้านต้นทุนการผลิต พบว่า โครงการแปลงใหญ่ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 107,255 บาทต่อครัวเรือนต่อปี การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มต้นทุน 219,458 บาทต่อครัวเรือนต่อปี Zoning by Agri-Map เพิ่มต้นทุน 278,962 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่แผนการผลิตข้าวครบวงจร ลดต้นทุน 24,586 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดต้นทุน 112,857 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้ต้นทุนของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

ด้านรายได้สุทธิ การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มรายได้สุทธิ 178,852 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่ แผนการผลิตข้าวครบวงจร ลดรายได้สุทธิ43,158 บาทต่อครัวเรือนต่อปี Zoning by Agri-Map ลดรายได้สุทธิ 32,976 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดรายได้สุทธิ125,568 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ส่วนที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้รายได้สุทธิของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

เมื่อนำรายได้สุทธิมาเฉลี่ยกับ 8.06 ล้านครัวเรือน  พบว่าเกษตรกรที่เข้าถึงโครงการการบริหารจัดการน้ำ  26.23%  สร้างเพิ่มมูลค่าได้ 378,221 ล้านบาทต่อปี  แผนการผลิตข้าวครบวงจร 3.4 ล้านครัวเรือน  มีมูลค่าลดลง 150,959 ล้านบาทต่อปี Zoning by Agri Map ที่เกษตรกรเข้าถึงโครงการ 1.80% มีมูลค่าลดลง 4,785 ล้านบาทต่อปี และ ธนาคารสินค้าเกษตร ที่เกษตรกรเข้าถึงโครงการ 4.129% มีมูลค่าลดลง  41,790 ล้านบาทต่อปี

และมูลค่าผลกระทบจากทั้ง 8 นโยบาย เท่ากับ180,686.25 ล้านบาทต่อปี เมื่อนำมาหักลบงบประมาณที่ใช้จ่ายตลอด 3ปี 8 นโยบายสร้างมูลค่าผลกระทบเชิงบวกรวม 106,908 ล้านบาทต่อปี แต่ทั้งหมดจะพบว่าเกิดขึ้นจากนโยบาย การบริหารจัดการน้ำเท่านั้น ดังนั้นควรพิจารณาหาแนวทางปรับปรุงนโยบายอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้น  อีกทั้งนโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก สะท้อนให้เห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำในการยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกร และควรส่งเสริมการขยายแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานมากขึ้น

ร่วมกับการทำเกษตรผสมผสานที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระดับความเสี่ยงเดียวกับเกษตรเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะครัวเรือนที่ปลูกข้าว ให้เงินช่วยเหลือต้องมีเงื่อนไขเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้า  รวมทั้งสร้างแรงจูงใจเกษตรกรวัยหนุ่มสาวเข้าร่วมโครงการ