'วัคซีนโควิด19' ครอบคลุมเพิ่มขึ้น ส่งผลอัตราป่วยตายลดลง
สธ.เผยกลุ่มสูงวัยฉีด "วัคซีนโควิด19" ครอบคลุมมากขึ้น ภาพรวมอัตราเสียชีวิตลดลงครึ่งหนึ่ง จาก 28% เหลือ 9% ย้ำประสิทธิผลวัคซีนช่วยป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิต คาดยอดผู้เสียชีวิตประเทศจะเริ่มลดลงในอีกราว 2-3 สัปดาห์
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 ส.ค.2564 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประเด็น “ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต” นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 มีการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพิ่มขึ้น จำนวน 275,188 โดส ยอดรวมสะสม อยู่ที่ 30.9 ล้านโดสเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 23 ล้าน ครอบคลุมถึง 32%
ขณะที่เข็มที่ 2 จำนวน 7.3 ล้านราย ครอบคลุมอยู่ที่ 10.2% ซึ่งความห่างกันนั้น เป็นที่ระยะเวลาการฉีดห่างกันด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน อย่างกรณีแอสตร้าฯ เข็ม 1 และ 2 จะมีระยะห่างประมาณ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไป ประเทศไทยใช้วัคซีนฉีดไขว้ เป็นสูตรหลัก คือ ซิโนแวคเข็มที่ 1 และแอสตร้าฯเข็มที่ 2 ห่างกันเพียง 3 สัปดาห์จะทำให้เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 จะใกล้เคียงมากขึ้น
ส่วนการครอบคลุมการได้รับวัคซีนโควิดสะสมในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ฉีดเข็มที่ 1 ภาพรวมครอบคลุมไปแล้ว 68.8% เฉพาะกทม.อยู่ที่ 97.1 % พื้นที่อื่นๆลดหลั่นไปในระดับ 50-60%ในหลายจังหวัด ส่วนจังหวัดอื่นๆ 64 จังหวัด ครอบคลุมเข็มที่ 1 อยู่ที่ 35.2%
ภาพรวมทั้งประเทศครอบคลุมเข็มที่ 1 อยู่ที่ 43.8% ซึ่งเป็นทิศทางที่เน้นความสำคัญในกลุ่มที่มีความเสี่ยง หากติอเชื้อจะมีอาการป่วยหนักรุนแรง หรือเสียชีวิตได้ ส่วนกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง ครอบคลุมเข็มที่ 1 อยู่ที่ 41.1% แต่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปเข็มที่ 1 ยังครอบคลุมเพียง 7.5% จึงขอแนะนำให้ไปฉีดวัคซีน ซึ่งหากติดเชื้ออาจจะมีความรุนแรงมีกรณีของการเสียชีวิตได้
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สัดส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อัตราป่วยตาย และความครอบคลุมของการไดรับวัคซีนในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปของประเทศไทย ในสัปดาห์ที่ 20-34 ของปี 2564 จะเห็นว่า เปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนในกลุ่ม อายุ 60 ปีขึ้นไป ค่อยไต่ระดับเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่สัปดาห์ที่ 22 ความครอบคลุมอยู่ที่ 0.80 % เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงสัปดาห์ที่ 30 อยู่ที่ 24 % และสัปดาห์ที่34 อยู่ที่ 41.45%
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราป่วยตายของผู้ติดโควิด 19 ในคนอายุ 60 ปี พบว่า สัปดาห์ที่ 25 เป็นจุดสูงสุดเกือบ 18% หรือราว 1 ใน 5 แต่เมื่อความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แนวโน้มอัตราป่วยตายค่อยๆลดลงมา โดยสัปดาห์ที่ 30 อัตราป่วยตายลดลงชัดเจนประมาณครึ่งหนึ่ง เหลืออยู่ที่ 9.27% ส่วนสัปดาห์หลังจากนั้นตั้งแต่สัปดาห์ 31-34 อาจมีข้อมูลค่อยๆมาเติมในอนาคต เพราะการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนจะใช้เวลาแตกต่างกัน หากมีข้อมูลส่วนนี้มาเติมก็จะทำให้เห็นข้อมูลที่สมบูรณ์
“ ในส่วนที่ข้อมูลที่ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว ตัวเลขนิ่งแล้วก็เห็นการเสียชีวิตลดลงจาก 18 % เป็น 9.27% ขณะเดียวกันการป่วยหนัก มีปอดอักเสบก็ทิศทางแนวโน้มแบบเดียวกัน เป็นการบ่งบอกว่าวัคซีนที่ฉีดครอบคลุมมากขึ้น ทำให้เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตในภาพรวมของผู้สูงอายุลดลง”นพ.เฉวตสรรกล่าว
นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า เมื่อแยกเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิดอย่างมาก โดยพบว่ามีการไต่ระดับสูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ 22 อยู่ที่ 3.8% ประมาณสัปดาห์ที่ 30 ขึ้นไปถึง 78.42% จนสัปดาห์ที่ 34 ขึ้นถึง 96.03% ส่วนอัตราการเสียชีวิตสัปดาห์ที่ 25 อยู่ที่ 28% สัปดาห์ที่ 30 อยู่ที่ 12.97% ลดลงเกือบครึ่ง น่าจะเป็นผลจากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม ส่วนทิศทางการป่วยหนักก็มีทิศทางเช่นเดียวกัน
ส่วนพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี แม้ตัวเลขการฉีดวัคซีนจะไม่สูงเท่ากรุงเทพฯปัจจุบันอยู่ที่ 44 % อัตราป่วยและเสียชีวิตสัปดาห์ที่ 24 สูงสุด อยู่ที่ 21.9 % และลดลงตามการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในสัปดาห์ที่ 30 อยู่ที่ 8.17 % ขณะที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 19 จังหวัด ก็มีแนวโน้มทางเดียวกัน สัปดาห์ที่ 22 ได้วัคซีน 0.32 % เป็น 19.57 % ในสัปดาห์ที่ 30 ส่วนอัตราการป่วยตายสูงสุดที่สัปดาห์ที่ 22 อยู่ที่ 20 % ลดลงเหลือ7.41 %ในสัปดาห์ที่ 30 และจังหวัดอื่นๆก็เช่นเดียวกัน
กรณีว่าทำไมภาพรวมผู้เสียชีวิตตัวเลขยังไม่ลด นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยมีระยะเวลาสั้นยาวแตกต่างกัน ซึ่งคลื่นของการระบาดที่ขึ้นสูงวันละ 2 หมื่นรายเป็นช่วงก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นคนที่รักษาอาจจะมีการรักษาหาย หรืออาการหนักแล้วเสียชีวิตตามมาคือไล่หลังตามมาห่างประมาณอาจจะ 2-3 สัปดาห์ได้ ดังนั้น ยอดเพดานสูงสุดของการเสียชีวิตจะคงระดับอยู่และน่าจะค่อยๆลดลงหลังจากนี้