เก็ตตี้ อิมเมจส์ ผ่าเทรนด์แรง! สื่อสารตลาดด้วยภาพ เพิ่มเอ็นเกจเมนต์
ประโยคอุปมา “ภาพ 1 ภาพ แทนคำเป็นล้าน” อาจใช้ไม่ได้กับทุกภาพ แต่สะท้อนความสำคัญของภาพไม่น้อย 'Getty Images' เผยเทรนด์การตลาดด้วยภาพมาแรง อยากเพิ่มเอ็นเกจเมนต์ ต้องเกาะติดพฤติกรรมผู้บริโภคเสพคอนเทนท์ภาพแบบไหน มีผลต่อการตัดสินใจเลือกแบรนด์ ซื้อสินค้า
ในโลกการตลาด แบรนด์สินค้าและบริการจะสร้างคอนเทนท์สื่อสารกับผู้บริโภคไม่ได้มีแค่วิดีโอ ตัวอักษร แต่ภาพจะช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ของเนื้อหาก สร้างการมีส่วนร่วมหรือเอ็นเกจเมนต์กับผู้บริโภคได้มากขึ้น
ทั้งนี้ จากโควิด-19 ระบาดยาวนาน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัวในการสื่อสารการตลาดผ่านภาพ งาน “MAT National Webinar 2021 : วันนักการตลาดสัญจรออนไลน์ 2564”โดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย(MAT) ได้ “อัปเดทกลยุทธ์การสื่อสารด้วยภาพให้ตรงใจผู้บริโภค” ซึ่ง ชลิต ตันติธรรม ผู้จัดการพัฒนาธุรกิจ เก็ตตี้อิมเมจส์ ประเทศไทย(Getty Images) เผยพฤติกรรมผู้บริโภค 4 ใน 5 ตัดสินใจเกี่ยวกับแบรนด์สินค้าและบริการโดยอิงจาก “ภาพ” ที่เห็น แบรนด์จึงต้องกลั่นกรองให้ดีก่อนจะนำเสนอวิดีโอ รูปภาพ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย
ปี 2564 เทรนด์ความสำคัญกับการสื่อสารตลาดผ่านภาพมากขึ้น หนีไม่พ้น เทคโนโลยี สุขภาพ ความจริง และความยั่งยืน
เทคโนโลยี ปัจจุบันอุปกรณ์การสื่อสาร เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งและสำคัญในการทำให้ชีวิตผู้คนง่ายขึ้น สามารถสื่อสารเชื่อมต่อกันได้ ปี 2563 ผู้ใช้งานมือถือในไทยเพิ่มขึ้น 80% ยิ่งโควิดทำให้อยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน ต้องใช้ดิจิทัลเพื่อบรรลุเป้าหมายต่างๆ ขณะที่การเล่าเรื่องเทคโนโลยีผ่านภาพในอดีตอาจเป็นนามธรรม ไม่สะท้อนให้รู้จักสินค้า แต่ปัจจุบันภาพช่วยสร้างความสมจริง ใกล้ชิด สร้างอิทธิพลกับผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภค 61% ต้องการสัมผัสประสบการณ์จริงของสินค้าและบริการจากแบรนด์
สุขภาพ โควิดทำให้ผู้คนตระหนักเรื่องสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ อดีตการสื่อสารตลาดผ่านภาพมักนำเสนอภาวะถดถอย ทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่ดี แต่เทรนด์ปีนี้การส่งเสริม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างความผ่อนความเติมความสุข มีบทบาทมากขึ้น เห็นได้จากแนวโน้มการค้นหารูปภาพ วิดีโอเกี่ยวกับการทำสมาธิ อยู่ร่วมกันเพิ่มขึ้น 400% แบรนด์สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำตลาดสะท้อนไลฟ์สไต์กลุ่มเป้าหมายได้
ความสมจริง ปัจจุบันการทำตลาดเปลี่ยนไปมาก ผู้ทรงอิทธิพล ผู้นำทางความคิด(Influencer/ KOL)มีส่วนสร้างแบรนด์ ทำให้ผู้บริโภคต้องการภาพ วิดีโอที่สมจริงมากขึ้น หากแบรนด์ตอบโจทย์ได้ จะสร้างเอ็นเกจเมนต์เพิ่มได้ ทว่าตอนนี้ชาวไทยและอาเซียน 68% กลับมองว่าแบรนด์ยังสื่อสารไม่สะท้อนตัวตนตนเองได้ ทั้งเรื่องสีผิว เพศ LGBT ซึ่งกลุ่มนี้มีกำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอยสูง
ความยั่งยืน ผู้บริโภคยุคใหม่เลือกซื้อสินค้าโดยพิจารณาแบรนด์ที่ตระหนักปัญหาสังคม มุ่งสร้างความยังยืนให้โลกมากขึ้น หากเทียบบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก 57% หันมาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พัฒนาแผนยั่งยืน ขณะที่องค์กรธุรกิจไทยมีเพียง 1% เท่านั้น ที่สื่อสารตลาดในเรื่องนี้ จึงสะท้อนถึง “โอกาส” ที่แบรนด์จะเล่าเรื่องกับผู้บริโภคมากขึ้น
ที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวไทยค้นหาเกี่ยวกับการรีไซเคิลเพิ่ม 2,000% การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 1,900% การสูญเสียอาหาร 1,400% เป็นต้น
“ผู้บริโภคในไทย 94%จะซื้อสินค้าที่มุ่งความยั่งยืน และ 97%ของชาวอาเซียนต้องการ แบรนด์ที่รักษ์โลก ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โลกวันนี้เปลี่ยน คอนเทนท์ต้องเปลี่ยน และภาพ วิดีโอ ช่วยเล่าเรื่องและอารมณ์ได้ดี ทำให้ผู้บริโภคต้องการเอนเกจกับแบรนด์มากขึ้น”
สำหรับเก็ตตี้ อิมเมจส์ มีช่างภาพกว่า 3 แสนคนทั่วโลก ในการถ่ายงานแต่ละชิ้นจะใช้ช่างภาพไม่ต่ำกว่า 5 คน บริษัทจึงพร้อมบริการลูกค้าช่วยทำตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยภาพที่ลูกค้านำไปใช้งานยังเป็นเอ็กซ์คลูสีพ ไม่ซ้ำกับแบรนด์สินค้าบริการอื่นๆ และตอกย้ำอัตลักษณ์แบรนด์(CI)ตามที่ลูกค้าต้องการ ที่สำคัญยังให้คำปรึกษาและขจัดอุปสรรคทางกฎหมายด้วย