'คลายล็อกดาวน์'1 ก.ย. ย้ำไม่ได้บังคับ 'กิจการ'ไหนพร้อม สามารถเปิดบริการได้ทันที

'คลายล็อกดาวน์'1 ก.ย. ย้ำไม่ได้บังคับ 'กิจการ'ไหนพร้อม สามารถเปิดบริการได้ทันที

ศบค.ย้ำชัด 'คลายล็อกดาวน์' 1ก.ย.นี้ 'กิจการ' พร้อมดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย เข้าร่วมได้ทันที ระบุไม่ได้บังคับ คาดเห็นความชัดเจน 1 ต.ค.นี้ ขอความร่วมมือทุกจังหวัด ผู้ประกอบการ ประชาชนเข้าร่วมอย่างเคร่งครัด

วันนี้  ( 1 ก.ย.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ประจำวันว่า  ประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 14,802 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,585 ราย ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ 5 ราย และ ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 217 ราย สะสมระลอกใหม่เดือนเม.ย.  1,190,668 ราย และสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,219,531 ราย 

สำหรับผู้ป่วยหายกลับบ้านได้ 18,996 ราย หายป่วยสะสม 1,013,342 ราย พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม  252  ราย เสียชีวิตสะสม 11,747 ราย ส่วนผู้ที่รักษาตัวในรพ.มี 166,922 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 4,917ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,040 ราย  

163047850231

  • เร่งพิจารณาฉีดวัคซีนกลุ่ม 50 ปีขึ้นไป

ส่วนสถานการณ์การฉีด วัคซีนโควิด-19 ที่รายงานวันนี้ สามารถสรุปจำนวนการได้รับวัคซีนสะสม จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. – 1 ก.ย. 2564) รวม  32,600,001 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 สะสม 23,795,098 ราย เข็มที่ 2 สะสม 8,212,750 ราย และเข็มที่ 3 สะสม 592,153  ราย

ทั้งนี้ รายละเอียดผู้เสียชีวิต  252 ราย เป็นชาย 130 ราย หญิง 122 ราย กลุ่มเสี่ยง 90% เป็นกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป บวกกับกลุ่มโรคเรื้อรัง ร  และมีหญิงตั้งครรภ เสียชีวิต 1 ราย ในพื้นที่มหาสารคาม

163047852288

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด- 19 ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งกรมควบคุมโรครายงานว่าตัวเลขที่เป็นค่ากลางอายุ 66 ปี แต่ถ้านับจำนวนผู้ที่มี 50 ปี ขึ้นไปด้วย ก็จะพบว่าอัตราเสียชีวิตเท่ากับ 80% ทำให้ กระทรวงสาธารณสุขเร่งพิจารณาเพิ่มผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป เร่งพิจารณาฉีดวัคซีนเร่งด่วนด้วย

นอกจากนั้น ผู้เสียชีวิตวันนี้มีการนอนนานที่สุด ถึง 75 วัน จะเห็นว่าเป็นกลุ่มที่รายงานจากทม. มีการอาศัยอยู่ในกทม.และมีการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา 17 ราย ซึ่งยอดตรงนี้เป็นผู้ป่วยที่กลับภูมิลำเนาเข้าไปรับการรักษา พบมาในเขคสุขภาพทางภาคอีสาน และทางกรมควบคุมโรคพยายามปรับการรายงานผู้เสียชีวิตตามวันที่เสียชีวิต เพื่อให้ได้ตัวเลขจริงมากที่สุด

 

  • คุมเข้มแรงงานกลับเข้ากทม.-ปริมณฑล

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่าในส่วนของการติดเชื้อนั้น หากพิจารณาจากกราฟที่แสดงจำนวนผู้ป่วย-ผู้ติดเชื้อในชุมชนรายวัน กทม. และปริมณฑล ต่างจังหวัด และภาพรวมประเทศ พบว่า  กทม.กับต่างจังหวัด กราฟจะเป็น 50:50 นอกจากนั้น มี 33 จังหวัด ที่มีรายงานยอดผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย แต่ในส่วนของพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ พบว่า ผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตลดลง

ส่วนถ้าจำแนกการติดที่พบในรพ. หรือเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ (PUI)เนื่องจากมีอาการทางเดินหายใจ หรือมีไข้ จะพบว่า ทั่วประเทศ มีผลการตรวจเป็นบวกมากถึง 17.6%  แต่ในส่วนของกทม.จะพบผู้ที่มีผลการตรวจเป็นบวก เป็น 27.2% ดังนั้น  ทุกรพ.จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ หรือระบบทางเดินหายใจ จำเป็นต้องตรวจผลโควิดด้วย PCR ทุกราย

163047855831

นอกจากนี้  สธ.ได้เน้นย้ำ บางจังหวัดแม้จะมียอดผู้ป่วยลดลง แต่อย่าลดการค้นหาผู้ป่วย และหย่อนมาตรการ  เพราะยังพบการรายงานผู้ป่วยในคลัสเตอร์ต่างๆ รวมถึงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หรือโรงงาน  ตลาดชุมชน ขอให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง โดยพยายามสุ่มตรวจในพื้นที่เสี่ยง เช่น ในจ.เชียงใหม่ มีการสุ่มตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ตลาดสด ตลาดนัด โรงงาน สถานประกอบการ ธนาคาร ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ขนส่ง

“ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าแคมป์คนงานต่างๆ ได้ปิดลง ซึ่งกลุ่มพี่น้องแรงงานกลับภูมิลำเนา แต่การเปิดกิจการ/กิจกรรม ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ จะทำให้พี่น้องแรงงานกลับเข้ามากทม. และปริมณฑล ขอให้ทุกจังหวัดมีการติดตาม คัดกรองพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงจะพยายามระดมฉีดวัคซีนให้แก่คนงานที่อยู่ในแคมป์คนงานต่างๆ และมีการตรวจหาเชื้อ รวมทั้งกรณีความเสี่ยงสถานีขนส่งทั้งทางบก น้ำ อากาศ ตอนนี้เริ่มเปิดให้บริการเกือบปกติ ขอให้ทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่จังหวัดเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้พญ.อภิสมัย กล่าว  

 

  • ย้ำไม่บังคับเข้าร่วม 'คลายล็อกดาวน์'

 พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แนวใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย หรือ Smart Control and Living with Covid-19  ซึ่งจะเป็นการทยอยเปิดกิจการ/กิจกรรม ใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ แต่ขอความร่วมมือ เป็นการนำร่อง ในจังหวัด พื้นที่ หรือกิจการ สถานประกอบการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการตามมาตรการได้ทันที  

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำ แนวปฎิบัติของมาตรการองค์กรด้วยหลัก COVID-Free Setting protocol ต้องประกอบด้วย

COVID-Free Environment : จะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีการระบายอาการ สุขอนามัยที่เหมาะสม สะอาดปลอดภัย และต้องเว้นระยะห่าง  

COVID-Free Personnel :มาตรการในส่วนของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ พนักงาน จะต้องมีการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ซึ่งจะมีการเร่งรัดให้ทุกคนได้รับวัคซีนครอบคลุม 2 เข็มมากที่สุด

 COVID-Free Customerลูกค้า ผู้ใช้บริการเข้าร้านไหน ต้องร่วมมือกับมาตรการตามร้านนั้นๆ และลูกต้องมี Green Card (วัคซีนครบตามเกณฑ์) Yellow Card (เคยติดเชื้อ หรือ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน)

163047857262

อย่างไรก็ตาม ในเดือนก.ย.นี้ ขอให้ทุกๆ จังหวัดเร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว และในเดือนนี้เป็นเสมือนการเตรียมพร้อมการดำเนินการมาตรการต่างๆ ซึ่งคาดว่า 1 ต.ค. จะเห็นความพร้อมอย่างชัดเจนมากขึ้น อันนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างปลอดภัย

ขอให้ผู้ประกอบการและจังหวัดศึกษาข้อปฎิบัติในมาตรการต่างๆ ซึ่งในส่วนของการฉีดวัคซีนโควิด. และตรวจ ATK  นั้น ในบางจังหวัดอาจจะยังมีข้อจำกัด ซึ่งในส่วนจังหวัดต่างๆ สามารถกำหนดอาชีพ กลุ่มคนที่จะให้บริการได้ เช่น บางจังหวัด ดำเนินการเปิดร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านนวด หรือแคมป์คนงาน ก็จะพิจารณาตามบริบทของแต่ละจังหวัดได้พญ.อภิสมัย กล่าว

 พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า มาตรการดังกล่าว ทางศบค.ได้ย้ำกับทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าต้องดำเนินการให้ผู้ประกอบการ และประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด และทางจังหวัด คกก.โรคติดต่อจังหวัดสามารถปรับบริบทตามพื้นที่ ตามสถานการณ์ได้ ดังนั้น ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการจัดทำมาตรการ Smart Control and Living with Covid-19   ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ และประชาชนต้องตระหนักและดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด  และขอเน้นย้ำ ร้านอาหาร ยังไม่ได้อนุญาตให้บริการการแสดงดนตรีสดในร้าน ซึ่งต้องงดไปก่อ น14 วัน ขณะที่ร้านเสริมสวย สามารถเปิดให้บริการได้ใน 2 ชั่วโมง ตามมาตรการที่กำหนด