อุตตมชงโมเดล Open Government ปชช.เข้าถึงข้อมูล ตรวจสอบรัฐบาล

อุตตมชงโมเดล Open Government ปชช.เข้าถึงข้อมูล ตรวจสอบรัฐบาล

"อุตตม" เผย ศึกซักฟอก มีการเปิดเผยเอกสารราชการ อย่างน่าสนใจ ชี้ การเปิดข้อมูลของรัฐบาล สำคัญขึ้นเรื่อยๆ ชง โมเดล "Open Government" ให้ปชช.เข้าถึงข้อมูล ช่วยตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส ช่วยพัฒนาประเทศ

นายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลัง และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และประธานที่ปรึกษาสถาบันอนาคตไทยศึกษา Thailand Future โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า “รัฐบาลเปิด” ลดความไม่รู้=ลดความขัดแย้ง

การอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. – 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ท่านๆ ที่ได้ติดตามคงจะเห็นถึงรูปแบบการนำเสนอ รวมทั้งเนื้อหาการอภิปราย ที่บางส่วนแตกต่างไปจากในอดีตพอสมควร โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารทางราชการบางชิ้น ที่ต้องยอมรับว่าน่าสนใจอย่างมาก 

ผู้ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์การเมือง ต่างก็คาดหวังว่าการอภิปราย จะมีข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อนเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ เพื่อนำไปสู่การจัดแจงแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายผู้อภิปราย หรือ ผู้ถูกอภิปราย จะสะท้อนถึงความพึงพอใจของประชาชน ส่วนการอภิปรายนั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายครั้งนี้ ซึ่งเน้นหนักเรื่องการบริหารจัดการของรัฐบาล ท่ามกลางการระบาดของไวรัส โควิด- 19 ซึ่งมีข้อมูลมากมาย หลากหลาย ซับซ้อนนั้น ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าวันนี้การเปิดเผยข้อมูลของรัฐบาล คือประเด็นสำคัญมาก ในการบริหารประเทศ และจะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต 

ขณะเดียวกัน พื้นฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตย คือสิทธิเสรีภาพ ซึ่งรวมความไปจนถึงสิทธิและเสรีภาพในการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรูปแบบวิธีการ โดยผ่านตัวแทนหรือ ส.ส. นับเป็นการใช้สิทธิทางอ้อมเท่านั้น และอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับข้อสงสัยที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิตัวจริงต้องการทราบ แต่จะดีกว่าไหม หากประชาชนสามารถเฝ้าติดตาม การบริหารประเทศของรัฐบาลตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องรอการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่กำหนดเป็นห้วงเวลาเป็นวาระ และกระทำได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น

สิ่งที่ผมพูดถึง เรียกว่า “รัฐบาลเปิด” หรือ Open Government ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยมานานหลายปี โดยความหมาย คือ รัฐบาลในฐานะตัวแทนประชาชนที่รับอาสามาบริหารประเทศ ต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เพื่อความโปร่งใสในทุก ๆ ด้าน มุ่งเน้นให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบได้ตลอดเวลา 

สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 และ พ.ร.บ.การบริหารงานและให้บริการภาครัฐระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันอนาคตไทยศึกษา หรือ Thailand Future ก็ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับ“รัฐบาลเปิด” ผมจึงขอหยิบยกประเด็นสำคัญ บางส่วนของบทความนี้มานำเสนออีกครั้ง โดยเชื่อว่า หากมีการสนับสนุนแนวคิด “รัฐบาลเปิด” ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก 

สถาบันอนาคตไทยศึกษา ตั้งประเด็นว่า “ทำไมประเทศไทยต้องพยายามเป็นรัฐบาลเปิด” ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ในมุมมองของประชาชน มีหลายกรณีที่รู้สึกว่ารัฐปิด ประชาชนไม่รู้ว่ารัฐบาลทำอะไรบ้าง ไม่รู้ว่าภาษีของประชาชนถูกนำไปใช้อะไรทำอะไร เวลาต้องยื่นเอกสารติดต่อราชการ ก็ไม่รู้ว่าขั้นตอนต่าง ๆ ไปถึงไหนแล้ว และยังมีข้อสงสัยในการบริหารราชการแผ่นดินอีกหลากหลาย เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกดังกล่าว “รัฐบาลต้องเปิด”

ทั้งนี้บทความระบุว่า การเป็น “รัฐบาลเปิด” ไม่ใช่แค่การเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐเท่านั้น  แต่การจะเป็นรัฐบาลเปิดได้ ต้องเปิดมากกว่านั้นคือ

1.“เปิดใจ” รัฐต้องปรับทัศนคติ ให้เป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง ทำทุกอย่างโดยอาศัยความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง

2. “เปิดกันเอง” หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองก่อน แบ่งปันและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และลดความทุกข์ร้อน ความลำบากของประชาชนเวลาติดต่อกับราชการ ที่ต้องเกิดภาระ เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา

3. “เปิดให้รู้” เปิดเผยให้ประชาชนรู้ว่า รัฐกำลังทำอะไรกันอยู่ โดยเปิดข้อมูล รวมไปถึงเปิดกระบวนการดำเนินการของรัฐ ลดขั้นตอนการทำงาน ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล 

4. “เปิดให้ร่วม” เปิดให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เข้ามาให้ข้อมูล สนับสนุน หรือร่วมพัฒนา ร่วมดำเนินการบางกิจกรรมที่รัฐไม่มีความเชี่ยวชาญ ร่วมเสนอแนะ การเปิดให้ร่วมแบบนี้จะทำให้รัฐออกแบบนโยบายได้ดีขึ้นอีกด้วย

สถาบันไทยอนาคตศึกษา ยังระบุว่า การมีข้อมูลจะทำให้ไม่เกิดดราม่า ดังคำพูดที่ว่า “Data, not Drama” การไม่มีข้อมูลทำให้เกิดผลต่อเนื่องตามมาหลายอย่าง รวมถึงการเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของภาคส่วนต่างๆ ความรู้สึกแบ่งแยก 

บทสรุป ของบทความชี้ว่า “รัฐบาลเปิด” หรือ Open Government เป็นเส้นทางสู่ “ประเทศเปิด” หรือ Open Country คือ ประเทศไทยสามารถเป็นประเทศที่ทุกภาคส่วนเปิดใจให้กัน เปิดเผยข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงเปิดให้รู้เรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างกัน ร่วมคิดและร่วนทำเพื่อประเทศโดยการเป็นรัฐบาลเปิด หรือ Open Government ต้องไม่ใช่เพียงแค่คำพูดที่บอกว่า “เปิด”  ต้องลงมือทำ ลงมือเริ่มเปิดจริง ๆ เปิดใจ เปิดกันเอง เปิดให้รู้ เปิดให้ร่วม ในรูปแบบที่เหมาะสมเพราะสุดท้ายแล้วการกระทำสำคัญกว่าคำพูด

สำหรับผมแล้ว การเป็นรัฐบาลเปิดนั้น จะเกิดขึ้นจริงได้ รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ(Trust) ให้กับประชาชนเสียก่อน โดยการลงมือทำให้เห็น เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลโดยสะดวก แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และเมื่อความเชื่อมั่นเกิด ความมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศก็จะเกิดขึ้นตามมา อันจะเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ รวมถึงการลดความขัดแย้ง เสริมสร้างความรักความสามัคคีให้คนทั้งประเทศ ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราจะได้สนับสนุนส่งเสริม ให้เกิด “รัฐบาลเปิด” เพื่อพัฒนาประเทศไปข้างหน้าร่วมกัน