เปิดร่าง กม.ป้องกัน‘ฟ้องปิดปาก’วิจารณ์สุจริตไม่ต้องรับโทษ
เปิดร่างกฎหมายป้องกัน “ฟ้องปิดปาก” ป.ป.ช.เปิดรับฟังความเป็นประชาชน เผย 3 มาตราสำคัญ คุ้มครองคนวิจารณ์-ยื่นเรื่องร้องเรียนกล่าวหาการทุจริต ไม่ต้องรับโทษอาญา-วินัย-ปกครอง – เลขาฯ ACT ชี้เป็นเรื่องดี แต่ตีความถึงกรณีรุกป่าด้วยหรือไม่
จากกรณี เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. โดยร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวสืบเนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กำหนดแผนและให้ความสำคัญกับกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและพัฒนาระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายคือการมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ โดยมีสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ
สำหรับร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. แบ่งออกเป็น 42 มาตรา 5 หมวด ได้แก่ 1.การฟ้องคดีปิดปาก 2.การคุ้มครองบุคคลมิให้ถูกฟ้องคดีปิดปาก 3.การคุ้มครองผู้ถูกฟ้องคดีและการพิจารณาของศาลในการฟ้องคดีปิดปาก 4.มาตรการส่งเสริมการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก 5.บทกำหนดโทษ
ระบุหลักการและเหตุผลสรุปได้ว่า เนื่องจากไทยลงนามเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต โดยรัฐภาคีจะต้องดำเนินการให้มีกฎหมายภายในและมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นอกจากนี้ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) กำหนดให้มีกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) เพื่อคุ้มครองบุคคลที่แสดงความเห็นหรือเปิดโปงเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชนที่ทำหน้าที่ปกป้องประโยชน์ของประชาชนอย่างสุจริต ในปัจจุบันการแสดงความเห็น การให้ข้อมูลเบาะแส หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะอันอาจนำไปสู่การตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบ ยังขาดกลไกทางกฎหมายในการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องคดีปิดปากโดยการนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือโดยมิชอบ
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว มีหลัก ๆ 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 5 ระบุว่า การดำเนินคดีหรือฟ้องคดีในลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นการฟ้องคดีปิดปาก
(1) การดำเนินคดีหรือการฟ้องคดีซึ่งมีสาเหตุอันเนื่องมาจากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้แสดงความคิดเห็น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล จัดทำคำร้องหรือคำกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ หรือเพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกป้องประโยชน์สาธารณะโดยสุจริต และ
(2) การดำเนินคดีหรือการฟ้องคดีอันมีลักษณะของการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบผู้ถูกดำเนินคดี หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ หรือเพื่อใช้ในการข่มขู่ ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น การต่อรองหรือยุติการดำเนินคดี
การแสดงความคิดเห็น การให้ถ้อยคำ การแจ้งเบาะแสข้อมูล การจัดทำคำร้องหรือกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง (1) ให้รวมถึงการแสดงความคิดเห็น การให้ถ้อยคำ การแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลการจัดทำคำร้องหรือคำกล่าวหาในฐานความผิดอื่นที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.
มาตรา 6 ระบุว่า ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ หรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือพนักงานสอบสวน ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ ซึ่งได้แสดงความคิดเห็น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแส หรือข้อมูล จัดทำคำร้องหรือคำกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ ซึ่งอาจนำไปสู่การสอบสวน การตรวจสอบ หรือไต่สวนตามที่กฎหมายกำหนด หรือการดำเนินการทางวินัยของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ถ้าได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางอาญา ทางแพ่ง ทางวินัย หรือทางปกครอง
มาตรา 7 ระบุว่า บุคคลใดซึ่งอ้างว่าได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล จัดทำคำร้องหรือคำกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ และประพฤติมิชอบ และได้นำกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางปกครอง มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะของการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบ หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ หรือเพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกป้องประโยชน์สาธารณะโดยสุจริตตามมาตรา 6 จะกระทำมิได้
โดยสรุป 3 มาตราดังกล่าวข้างต้น คุ้มครองบุคคลที่แสดงความเห็น หรือร้องทุกข์กล่าวโทษ-กล่าวหาบุคคลใดก็ตามที่อาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ และความผิดฐานอื่นที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. โดยหากดำเนินการโดย ‘สุจริต’ บุคคลที่ถูกกล่าวหา-พาดพิง มิอาจ ‘ฟ้องปิดปาก’ ได้
ประเด็นที่น่าสนใจกรณีนี้ นอกเหนือจากเป็นการคุ้มครองประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์-ยื่นเรื่องร้องเรียนกล่าวหาบุคคลที่เข้าข่ายมีพฤติการณ์ทุจริตแล้ว อาจมีการคุ้มครอง ‘เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.’ มิให้ต้องรับความผิดด้วยหรือไม่?
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT อธิบายว่า เบื้องต้นยังไม่ได้อ่านร่างกฎหมายดังกล่าวละเอียด แต่ ACT คือองค์กรที่ผลักดัน Anti-SLAPP Law มาตั้งแต่ปี 2556 นำเสนอผ่านทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ดังนั้นเมื่อมีร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาให้ประชาชนเสนอความเห็นมาแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และหากมีประเด็นอะไรเพิ่มเติม ACT คงตั้งข้อสังเกตหรือเสนอแนะกลับไป
นายมานะ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นในหลักการเพื่อปกป้องคนที่พยายามพูด พยายามเปิดโปงหรือร้องเรียน หรือดำเนินการการอะไรบางอย่างในการแก้ไขสถานการณ์การทุจริต มักจะโดนกลั่นแกล้งด้วยการฟ้องปิดปากอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นหากร่างกฎหมายฉบับนี้มีการคุ้มครองทั้งผู้ร้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไปในทิศทางเดียวกัน เป็นเรื่องดี เพราะกฎหมายที่ผ่านมามีช่องว่างเสมอ ดูได้จากที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อทำงานไปสักระยะ จะเกิดช่องว่างให้พวกเขาโดนคุกคาม ยกตัวอย่างกรณีกรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เป็นเรื่องชัดเจน
นายมานะ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากนี้ที่น่าสนใจคือ จะสามารถขยายการตีความเรื่องร้องเรียนครอบคลุมถึงประเด็นเกี่ยวกับการบุกรุกที่ป่า ที่สาธารณะได้หรือไม่ เพราะพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้เกิดจากคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ และเอกชนบางราย เพราะปัจจุบัน ป.ป.ช. มีอำนาจการตรวจสอบที่ค่อนข้างแคบ มุ่งไปยังเรื่องคอร์รัปชั่นโดยตรง แต่ถ้าเป็นเรื่องของการบุกรุป่า อาจมีปัจจัยเบื้องหลังบางอย่าง บางกรณีบอกไม่ได้ชัดเจนว่า มีเจ้าหน้าที่ที่ดิน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ หรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ ดังนั้นต้องดูว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเอื้อประโยชน์และดูแลประชาชนที่เรียกร้องประเด็นเหล่านี้ได้แค่ไหน เพราะถ้าเป็นไปตามกฎหมาย ป.ป.ช. เขาจะพยายามยืนอยู่บนกรอบกฎหมายของตัวเอง
เมื่อถามว่า เส้นแบ่งระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตกับการหมิ่นประมาทในร่างกฎหมายฉบับนี้ นายมานะ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องยกเอาผลประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ถ้าจะบอกว่าเป็นการตีความกฎหมาย ยากมาก แต่ถ้าพิสูจน์กันได้ว่า เรื่องที่พูดหรือวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม หรือผลประโยชน์สาธารณะ จะคุ้มครองได้