สภาพัฒน์ เตรียมจัดประชุม Mission to Transform : 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย

สภาพัฒน์ เตรียมจัดประชุม Mission to Transform : 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย

"สภาพัฒน์" กำหนดจัดประชุมประจำปี 2564 เรื่อง “Mission to Transform : 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย” ในวันพุธที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 9.00 – 12.30 น. ในรูปแบบออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ

นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การพัฒนาประเทศตามแนวทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติได้ดำเนินการมาเกินกว่าครึ่งทางของแผนพัฒนาฯ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ที่ยังคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาประเทศทุกมิติ ในขณะเดียวกัน สศช. ได้เข้าสู่ช่วงเวลาการจัดทำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่กำหนดใช้ใน พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งนับเป็นแผนพัฒนาฯ ที่นำไปสู่ช่วง 5 ปีที่สองของยุทธศาสตร์ชาติ

การกำหนดทิศทางการพัฒนาในระยะต่อไปนั้นจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในปัจจัยที่สอดคล้องกับการพัฒนา โดย สศช. ได้ศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 พร้อมทั้งจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศไทยที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคต

สภาพัฒน์ เตรียมจัดประชุม Mission to Transform : 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย

สศช. จึงกำหนดการประชุมประจำปี 2564 เรื่อง “Mission to Transform : 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย”   ผ่านโปรแกรม Zoom โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีระดมความคิดเห็นร่วมกันของทุกภาคส่วนต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 รวมถึงกำหนดแนวทางการพัฒนาที่ประเทศต้องเน้นและเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาสู่การบรรลุเป้าหมายในระยะต่อไปให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาชน สื่อมวลชน โดยก่อนหน้านี้ สศช. ได้จัดเวทีประชุมระดมความคิดเห็นในระดับภาค 18 กลุ่มจังหวัด และเวทีกลุ่มเฉพาะ (Focus Group) ในส่วนกลาง 7 กลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ “ร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13”

สภาพัฒน์ เตรียมจัดประชุม Mission to Transform : 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย

สำหรับสาระของกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นี้ มีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งไปที่ 4 ด้านหลักของการพัฒนา คือ (1) เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (2) สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม (3) วิถีชีวิตที่ยั่งยืน และ (4) ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ

ภายใต้องค์ประกอบในแต่ละด้านข้างต้นนี้ ได้กำหนด “หมุดหมาย” ที่จะบ่งบอกถึงสิ่งที่ประเทศไทยปรารถนาในช่วงระยะ 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อให้การขับเคลื่อนมีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน ประกอบด้วย 13 หมุดหมาย ได้แก่ (1) เกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง (2) การท่องเที่ยวเน้นคุณภาพและความยั่งยืน (3) ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก (4) การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (5) ประตูการค้าการลงทุนและโลจิสติกส์ (6) ศูนย์กลางดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (7) SMEs ที่เข้มแข็ง ศักยภาพสูง แข่งขันได้ (8) พื้นที่และเมืองอัจฉริยะ (9) ความยากจนข้ามรุ่นและความคุ้มครองทางสังคม (10) เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ (11) การลดความเสี่ยงภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (12) กำลังคนสมรรถนะสูง และ (13) ภาครัฐที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพตอบโจทย์ประชาชน

 

ในส่วนของกิจกรรมของการประชุม เริ่มด้วยการนำเสนอวีดิทัศน์ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เรื่อง “Mission to Transform” จากนั้นเป็นการกล่าวเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พลิกโฉม อนาคตประเทศ” โดย พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  การเสวนา ในหัวข้อ “13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์การประชุม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. นำเสนอกรอบแนวคิดและเป้าหมายหลักของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 รวมทั้งเป้าหมายและกลยุทธ์การพัฒนาในแต่ละหมุดหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้แก่ ดร.วิรไท  สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายสมโภชน์  อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และ ดร.สุทธาภา  อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด

 ทั้งนี้ เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  สศช. จึงได้ปรับรูปแบบการประชุมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม

สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการประชุมได้ทางเว็บไซต์

www.nesdc.go.th และติดตามการถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook Live ที่เพจ “สภาพัฒน์” ในวันที่ 22 กันยายน 2564 ตั้งแต่เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป รวมทั้งสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทาง inbox ผ่าน Facebook Page สภาพัฒน์ หรือทางอีเมล [email protected]