“สมเจตน์”ห่วงโควิด ฉุดแผนการเงินเมกะโปรเจค "อีอีซี"

“สมเจตน์”ห่วงโควิด  ฉุดแผนการเงินเมกะโปรเจค "อีอีซี"

"สมเจตน์’ ห่วงเมกะโปรเจ็กต์ลงทุนอีอีซี ไฮสปีด - สนามบินอู่ตะเภาไปไม่ถึงฝัน หลังอุตฯการบินกระทบหนักหลังโควิด ส่งผลการไฟแนนซ์โครงการ - หาแหล่งเงินกู้ ด้าน ดร.คณิศ ชี้ทุกโครงการใหญ่เดินได้ มั่นใจศักยภาพเอกชนที่ชนะประมูล เชื่อไม่ทิ้งโครงการแน่

การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นการต่อยอดจากการโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Sea board Development Program (ESB) เพื่อยกระดับฐานการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ปิโตรเคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โดยขยายขอบเขตสู่ภาคการเกษตร ภาคบริการและการพัฒนาเมือง

สมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตผู้ว่าการการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยมีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต ถูกต่อยอดเป็น EEC ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่เห็นความแตกต่างของทั้ง 2 โครงการ เพราะเวลาที่ต่างกัน 35 ปี และทำให้เทคโนโลยี ประเทศหลักที่จะเข้ามาลงทุน รวมถึงแหล่งเงินกู้ในโครงการที่จะมีความแตกต่างกัน

ทั้งนี้จากสถานการณ์ “โควิด-19” ที่เกิดขึ้นอาจกระทบกับการเดินหน้าโครงการ EEC โดยเฉพาะการก่อสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่เป็นหัวใจสำคัญของโครงการ EEC ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผลตอบแทนในโครงการหลักใน EEC โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินใช้เวลาอีกมากกว่าจะฟื้นตัว โดยสถาบันการเงินอาจไม่ปล่อยกู้ให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาได้ ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) จะได้รับผลกระทบด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

สำหรับโครงการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การคาดการณ์ผลตอบแทนในโครงการทั้ง 2 โครงการ ลดลงและทำให้สถาบันการเงินอาจไม่ปล่อยกู้ ซึ่งกรณีนี้อาจไม่เหมือนช่วงการลงทุน ESB ที่มีแหล่งเงินกู้จาก Overseas Economic Cooperation Fund (OECF) ของญี่ปุ่นสนับสนุน แต่โครงการใน EEC เป็นการลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งเอกชนได้รับสิทธิในการลงทุนและจัดเก็บรายได้ โดยต้องจัดสรรผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐ ขณะที่ภาครัฐมีส่วนลงทุนในการจัดเตรียมพื้นที่ให้ โดยกรณีสนามบินอู่ตะเภา คือ รัฐจัดพื้นที่สร้างรันเวย์ 2 แต่เอกชนต้องรับความเสี่ยงภาระคืนทุนทั้งต้นทุนและดอกเบี้ยเงินกู้

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 กระทบธุรกิจการบินทรุดหนักต่อเนื่อง โดยโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินลงทุน 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งผู้ชนะประมูลได้ส่งแผนแม่บทสนามบินให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แล้ว และกำลังออกแบบร่างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ ซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐตามแผนที่เสนอหรือไม่

นอกจากนี้กลุ่มผู้ชนะการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ได้เสนอผลตอบแทนการเงินให้แก่รัฐสูงถึง 3 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า โครงการจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้รับเงินกู้จากธนาคารหรือแหล่งเงินกู้อื่น ซึ่งผู้ให้กู้ต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุน (Feasibility) การบริหารการเงิน และผลตอบแทนที่จะจ่ายให้กับภาครัฐ อย่างละเอียดว่าจะเป็นไปตามที่เสนอได้จริงหรือไม่

ส่วนปัญหาที่ท้าทายจึงอยู่ที่การบริหารจัดการด้านการเงินของโครงการ (Project Finance) ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีความสําคัญอย่างยิ่ง หากไม่สามารถทําได้ ก็จะนํามาสู่ความล้มเหลวในการพัฒนาพื้นที่ EEC ตัวอย่างในอดีตก็มีโครงการที่เริ่มต้นทําท่าว่าน่าจะไปได้ดี แต่จบที่รัฐต้องรับผิดชอบค่าเสียหายมหาศาล เช่น โครงการโฮปเวลล์ที่ไม่สามารถก่อสร้างจนเสร็จได้และต้องยกเลิกสัญญาสัมปทาน

“สมเจตน์”ห่วงโควิด  ฉุดแผนการเงินเมกะโปรเจค "อีอีซี"

รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า โครงการที่ได้เอกชนร่วมลงทุนแล้วมี 4 โครงการ คือ 

1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มี บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นผู้ร่วมลงทุน โดยก่อนหน้านี้ใช้ชื่อบริษัท รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จำกัด แต่ได้มีการเปลี่ยนชื่อและตามแผนจะเปิดบนิการปี 2568

2.ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 มี บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ร่วมลงทุน ซึ่งร่วมทุนระหว่างบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) เปิดบริการปี 2569

3.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มี บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด ร่วมลงทุน ซึ่งร่วมทุนระหว่างบริษัท การบิน กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดบริการปี 2568

4.ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 กิจการร่วมค้า GPC ชนะการประมูล เป็นการร่วมทุนระหว่างกัลฟ์ ปตท.และบริษัท ไชนาร์ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัด เป็นบริการท่า F1 ในปี 2568

 

“คณิศ”ยันเอกชนชนะประมูลมีศักยภาพ

คณิศ แสงสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)กล่าวว่าการแสดงความเป็นห่วงโครงการอีอีซีเป็นส่วนที่รับฟังเป็นข้อสังเกตได้ แต่ไม่กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจากสถานการณ์โควิด-19 ภาคเอกชนที่ชนะการประมูลการลงทุน และได้สัมปทานโครงการขนาดใหญ่ในอีอีซี มีการปรับปรุงรายละเอียดโครงการบ้าง แต่ไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้โครงการสะดุด 

รวมทั้งมั่นใจศักยภาพของภาคเอกชนที่ชนะการประมูลว่าหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ เพราะปัจจุบันสภาพคล่องในระบบมีเหลือมากรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เพิ่งให้ข้อมูลว่าสภาพคล่องที่สถาบันการเงินจะให้กู้ยืมมีมากกว่า 2 ล้านล้านบาท และปัจจุบันภาวะดอกเบี้ยยังต่ำมาก

ทั้งนี้แม้ระยะข้างหน้าอาจปรับสัญญาบ้างเพราะโควิด-19 เข้ามามันก็แรงเหมือนกัน แต่ภาคเอกชนไม่มีปัญหาเรื่องการเงินแต่ละโครงการแน่นอนเพราะภาคเอกชนที่ชนะการประมูลเป็นบริษัทขนาดใหญ่ โดยผู้ชนะประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 มีบริษัทใหญ่ร่วมลงทุนคือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)ซึ่งทั้ง2บริษัทไม่มีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินลงทุน เพราะสถาบันการเงินต้องการให้ทั้ง2บริษัทกู้เงินไปลงทุนอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินรวมถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นเอกชนที่ศักยภาพจึงมั่นใจได้ว่าโครงการเมกะโปรเจคจะเดินหน้าต่อได้

“ช่วงที่โควิดเข้ามา มีบางส่วนที่ต้องปรับนิดปรับหน่อย ที่เคยประมาณการผู้โดยสารไว้ก็น้อยลง แต่สนามบินอู่ตะเภาส่วนที่ขยายออกไปไม่มีปัญหาเพราะกว่าจะเปิดใช้เวลาอีก 2 – 3 ปี ขณะนั้นภาวะการบินก็กลับมาแล้ว การก่อสร้างโครงการต่างๆ เดินหน้าไปได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องกลับมาทบทวนความเป็นไปได้ในการลงทุนเหมือนที่มีความกังวล”