แนะวิธีกินอาหารสำหรับผู้สูงอายุ กินอย่างไร? ให้ปลอดภัย ไม่ติดคอ
กรมอนามัย เตือนผู้สูงอายุกินพอดีคำ หากอาหารติดคอ ไม่ควรกลืนข้าวตาม พร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และวิธีปฏิบัติตัวในการกินอาหารให้ปลอดภัย ลดเสี่ยงการเสียชีวิต
จากกรณีการนำเสนอข่าวชายวัย 68 ปี กินข้าวกับเป็ดพะโล้ แล้วเกิดติดคอจึงได้กลืนข้าวตามเข้าไป เพื่อให้เศษอาหารที่ติดคอลงไปสู่ระบบย่อยอาหารส่วนอื่น แต่ก็เกิดอาการชักและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว และขอให้ทุกบ้านที่มีผู้สูงอายุต้องดูแลการกินอาหารอย่างใกล้ชิด ซึ่งปกติแล้วการกลืนอาหารชิ้นใหญ่เพื่อช่วยเหลือผู้ที่อาหารติดคอนั้น ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง
เนื่องจากกินชิ้นใหญ่หรือเคี้ยวไม่ละเอียด มีโอกาสเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพและระบบการทำงาน ต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งการกลืนอาหารด้วย รวมถึงปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผู้สูงอายุประสบปัญหาในการ กลืนอาหาร เริ่มตั้งแต่ในช่องปาก
- วิธีช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อผู้สูงอายุอาหารติดคอ
โดยพบว่าผู้สูงอายุมักมีภาวะปากแห้ง จึงขาดน้ำลายในการปั้นอาหารเป็นก้อน แนะนำให้กินวุ้นชุ่มปาก ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามได้ที่มูลนิธิทันตนวัตกรรม
อีกทั้งฟันหรือกำลังของการบดเคี้ยวลดลง ทำให้ผู้สูงอายุต้องใช้เวลาบดเคี้ยวอาหารเพิ่มนานยิ่งขึ้น การทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลงเช่นกันทำให้ต้องกลืนอาหารหลายครั้งกว่าปกติ เสี่ยงต่อการสำลักอาหาร
อีกทั้งฝาปิดกล่องเสียงที่ป้องกันการไหลของอาหารลงสู่หลอดลมของผู้สูงอายุปิดช้ากว่าคนหนุ่มสาว ร่วมกับหูรูดหลอดอาหารเปิดรับอาหารสั้นลง ส่งผลให้อาหารอยู่ในคอหอยนานขึ้นและมีโอกาสเหลือค้างมากกว่าปกติ ประกอบกับการหยุดหายใจของผู้สูงอายุขณะกลืนจะต้องใช้เวลานานขึ้น จึงทำให้โอกาสที่จะเกิดการสำลักในขณะกลืนอาหารมีมากขึ้นตามไปด้วย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับวิธีการช่วยเหลือหากอาหารติดคอในกรณีไม่รุนแรง หายใจได้ ให้ไอเอาสิ่งที่ติดคอออกมาแล้วโทร 1669 หรือนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
- รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนโทร 1669
ส่วนกรณีรุนแรง หายใจไม่ได้ ไอไม่ได้ หรือผู้ป่วยหมดสติ ให้แจ้ง 1669 และรีบปฐมพยาบาล
โดยให้ผู้ช่วยปฐมพยาบาลยืนด้านหลังผู้ป่วยโอบรอบใต้รักแร้ มือข้างหนึ่งกำ โดยหันกำปั้นด้านนิ้วหัวแม่มือเข้าไปด้านในหน้าท้องผู้ป่วย แล้ววางไว้เหนือบริเวณสะดือแต่ใต้ลิ้นปี่ มืออีกข้างโอบกำปั้นไว้ และรัดกระตุกที่หน้าท้องขึ้นและเข้าพร้อม ๆ กัน แรง ๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออก หรือจนกว่าผู้ป่วยจะพูดหรือร้องออกมาได้ จากนั้นนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
- แนะการปฎิบัติป้องกันการติดคอ
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุต้องใส่ใจเรื่องการกินอาหารให้ปลอดภัย หรือลูกหลานควรดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอาหารติดคอหรือสำลักอาหาร โดยมีวิธีการปฏิบัติดังนี้
1) นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร และหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที
2) เคี้ยวและกลืนอาหารช้า ๆ อย่างตั้งใจ ให้เวลากับมื้ออาหารอย่างเพียงพอ
3) อย่ากินอาหารขณะเหนื่อย ควรพักก่อนสัก 30 นาที
4) อาหารที่กินควรมีขนาดชิ้นเล็ก ๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่หรือเหนียวเกินไป
5) ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การดูทีวี เพื่อป้องกันการหัวเราะขณะกลืนอาหาร
6) กินอาหารคำละ 1 ชนิด เนื่องจากอาหารที่มีเนื้อหลากหลายชนิดใน 1 คำจะสำลักง่าย
7) หลีกเลี่ยงการกินอาหารแห้งหรือแฉะเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปปริมาณพอเหมาะ ช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น