เปิดประเทศเฟสใหม่ ต.ค. 4จังหวัดฉีดวัคซีนไม่ถึง20%
การเปิดประเทศในระยะที่ 2 จะเริ่มในเดือน ต.ค.2564 ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ ซึ่งเงื่อนไขสำคัญของการเปิดเมืองอยู่ที่การฉีดวัคซีน
จากแนวทางการขับเคลื่อนแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยรัฐบาลเดินหน้าตามแผนเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่วางไว้เป็นระยะ หลังจากนำร่องระยะที่ 1 ในรูปแบบ “แซนด์บ็อกซ์” ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ไปแล้ว
หลังจากการเปิดโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ไปได้ 2 เดือนแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่ดีเป็นที่น่าพอใจ โดยรายจ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 60,000-70,000 บาท และสร้างรายได้สะสม 1,634 ล้านบาท ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถกลับมาฟื้นตัวสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก
ขณะที่ในเดือน ต.ค.2564 เป็นเดือนที่วางแผนในการปรับมาตรการ ภายใต้การป้องกันตนเองแบบ Universal Prevention พร้อมกับเข้าสู่แผนการเปิดพื้นที่ระยะที่ 2 อีก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ ซึ่งแต่ละจังหวัดได้เตรียมความพร้อมเร่งฉีดวัคซีนให้คนพื้นที่ และจัดเคมเปญต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว อาทิ กรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์ ,หัวหิน รีชาร์จ ,ชาร์มมิง เชียงใหม่ เป็นต้น
อ่านข่าว-ด่วน! ยอด โควิด-19 วันนี้ พบติดเชื้อเพิ่ม 12,853 ราย เสียชีวิต 132 ราย
- 4จังหวัดเปิดประเทศฉีดวัคซีนไม่เกิน 20%
สำหรับการเปิดประเทศนั้น แต่ละจังหวัดจะต้องมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่คนในพื้นที่ ข้อมูลจาก “หมอพร้อม” วันที่ 12 ก.ย.2564 เวลา 12.03 น.พบว่า มีการฉีดสะสมแล้ว 40.23 ล้านราย หรือ 40.49%
แบ่งเป็น กลุ่มประชาชนทั่วไป 22ล้านคน ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้น 8.02 ล้านคน ผู้มีโรคประจำตัว 4.67 ล้านคน บุคลากรทางการแพทย์ 3.42 ล้านคน เจ้าหน้าที่ด่านหน้า 2.04 ล้านคน และหญิงตั้งครรภ์ 0.07 ล้านคน
เมื่อพิจารณารายละเอียดของประเภทวัคซีนที่ใช้ในการฉีดนั้น แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 17.40 ล้านโดส ซิโนแวค 16.63 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 5.21 ล้านโดส ไฟเซอร์ 0.97 ล้านโดส และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 0.005 ล้านโดส
รวมทั้งเมื่อจำแนกตาม 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ ที่จะมีการเปิดพื้นที่ในเดือน ต.ค.นี้ พบว่า โดยมีเฉพาะพื้นที่ กรุงเทพฯ ที่มีผู้รับวัคซีนเกิน 30% นั่นคือ มีผู้รับวัคซีน 7.92 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากร 34.85% แบ่งเป็น
ชลบุรี มีผู้ที่ได้รับวัคซีน 2.32 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.30% เพชรบุรี มีผู้ที่ได้รับวัคซีน 465,410 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.46% ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้ที่ได้รับวัคซีน 560,841 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 17.66% และ เชียงใหม่ มีผู้ที่ได้รับวัคซีน 1.89 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 15.57%
- แผนฉีดวัคซีนให้ประชากร 24 ล้านโดสเดือนต.ค.
นอกจากนี้ ศบค.ได้รายงานแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชากรรวม 24 ล้านโดส ทั่วประเทศในระหว่างวันที่ วันที่ 27 ก.ย.-31 ต.ค.2564 แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.กลุ่มประชาชนอายุ 18 ปี ขึ้นไป รับวัคซีนคิดเป็นสัดส่วน 70% ของแผนดังกล่าว รวม 16.8 ล้านโดส โดยมีสูตรการฉีดวัคซีน 3 รูปแบบ คือ วัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าเซเนก้า, วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า-แสตร้าเซเนก้า และวัตซีนเอสตร้าเซเนก้า-ไฟเซอร์
2.กลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี รับวัคซีนคิดเป็นสัดส่วน 20% ของแผนดังกล่าว รวม 4.8 ล้านโดส โดยมีสูตรการฉีดวัคซีน 1 รูปแบบ คือ วัคซีนไฟเซอร์-ไฟเซอร์
3.กลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม รับวัคซีนคิดเป็นสัดส่วน 3% ของแผนดังกล่าว รวม 800,000 โดส โดยมีสูตรการฉีดวัคซีน 1 รูปแบบ คือ วัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าเซเนก้า
4.กลุ่มหน่วยงานต่างๆ เช่น ในเรือนจำ รับวัคซีนคิดเป็นสัดส่วน 5% ของแผนดังกล่าว รวม 1.1 ล้านโดส โดยมีสูตรการฉีดวัคซีน 1 รูปแบบ คือ วัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าเซเนก้า
5.กลุ่มผู้ต้องการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 หลังจากได้รับซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม กลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนคิดเป็นสัดส่วน 2% รวม 500,000 โดส โดยมีสูตรการฉีดวัคซีน 1 รูปแบบ คือวัคซีนซิโนแวค-ซิโนแวค-แอสตร้าเซเนก้า
นอกจากนี้ ศบค.รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 วานนี้ (12 ก.ย.) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้น 14,029 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,749 ราย ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 276 ราย และผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย
ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกใหม่นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 มีจำนวน 1.35 ล้านราย ส่วนภาพรวมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,382,173 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 180 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 14,259 คน แล้ว ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 14,353 คน
โดยมีผู้ป่วยหายกลับบ้าน 15,742 ราย ทั้งนี้ มีผู้หายป่วยสะสมระลอกเดือน เม.ย.2564 จำนวน 1.20 ล้านราย สำหรับผู้ป่วยรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 135,966 ราย แบ่งเป็น ในโรงพยาบาล 40,601ราย และโรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 95,365 ราย กลุ่มอาการหนัก 4,103 ราย และกลุ่มใส่เครื่องช่วยหายใจ 856 ราย
ส่วนผู้ป่วยโรคโควิด-19 เสียชีวิต 180 ราย แบ่งเป็น ชาย 101 ราย และหญิง 79 ราย สัญชาติไทย 175 ราย เมียนมา 4 ราย จีน 1 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 132 ราย อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 36 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 10 ราย หญิงตั้งครรภ์ 1 ราย จังหวัดยะลา และเด็ก 5 เดือน 1 ราย ที่จังหวัดยะลา เช่นเดียวกัน
ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค มีมาจากโรคความดันโลหิตสูง 102 ราย, โรคเบาหวาน 68 ราย, โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ 46 ราย, โรคอ้วน 17 ราย, โรคไต 32 ราย, และผู้ป่วยติดเตียง 6 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล 1 ราย ที่จังหวัดชลบุรี โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อยังมาจากการติดเชื้อในพื้นที่ 176 ราย คนรู้จัก 68 ราย, ครอบครัว 12 ราย, อาศัย 95 ราย และอาชีพเสี่ยง 1 ราย
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายใหม่ วันที่ 12 ก.ย.2564 ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 3,356 ราย ชลบุรี 848 ราย สมุทรปราการ 832 ราย ระยอง 524 ราย ราชบุรี 516 ราย สมุทรสาคร 506 ราย นนทบุรี 410 ราย ยะลา 402 ราย สงขลา 396 ราย และปราจีนบุรี 379 ราย
ส่วนจำนวนผู้รับวัคซีนข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ถึงวันที่ 11 ก.ย.2564 พบว่ามีผู้รับวัคซีนแล้ว 40.06 ล้านโดส แบ่งเป็นผู้ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 27.19 ล้านราย ผู้ฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 12.25 ล้านราย และผู้ฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 614,969 ราย