แนะผู้ป่วยโควิด-19 หายจากโควิด ต้องดูแลปอดให้แข็งแรง

แนะผู้ป่วยโควิด-19 หายจากโควิด ต้องดูแลปอดให้แข็งแรง

ปอดเป็นอวัยวะหลักที่ได้รับผลกระทบต่อโควิด 19 และอาจมีผลกระทบระยะยาว ต่อให้หายจากโควิด-19 ยังต้องดูแลปอดให้แข็งแรงมากที่สุด

วันนี้ (13 ก.ย.2564 )สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สถาบันบำราศนราดูร สถาบันโรคทรวงอกและสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าว การฟื้นฟูการทำงานของปอดและระบบหายใจแก่ผู้ป่วยPost-Covid-1 เพื่อร่วมกันส่งเสริมฟื้นฟูปอดให้แข็งแรงด้วยกัน

  • สธ.เตรียมรื้อใหญ่การรักษาโควิด-19

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โควิด-19 ได้ทำลายล้างเกือบทุกทฤษฎี ซึ่งเริ่มต้นองค์การอนามัยโลก ระบุว่าไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่สุดท้ายก็ต้องใส่หน้ากาก และมีการบอกว่าคนติดโควิด-19 ไม่สามารถติดได้อีก แต่สุดท้ายก็ติดได้อีก  มีหลายคนบอกว่าถ้ามีวัคซีนทุกก็จบ แต่ในความเป็นจริงเมื่อวัคซีนมากลับไม่จบ ดังนั้น โควิด-19 ได้สอนอะไรหลายอย่าง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเร็วให้พอในการรับมือโควิด-19

“ในช่วงปีกว่า ได้เรียนรู้มากมาย และมีการปรับนโยบาย ปรับการทำงานต่างๆ เพื่อรับมือแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเตียง โรงพยาบาลสนาม มาตรการ Home Isolation Community Isolation  และมีการเตรียมพร้อมตั้งรับเพื่ออยู่กับโรคได้มากขึ้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

โดยได้มี การคาดการณ์สถานการณ์แย่ที่สุด ที่กรมควบคุมคาดการณ์ไว้หากมีการติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง จะประมาณ 30,000 กว่ารายต่อวัน และกทม.จะพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 5,500 รายต่อวัน ดังนั้น มีการเตรียมพร้อมไว้ทั้งหมดว่าจะรับมืออย่างไรบ้าง รวมถึงได้มีการให้ผู้เชี่ยวชาญทบทวนแนวทางการรักษา รื้อใหญ่อีกครั้ง เพราะตอนนี้มีการศึกษาวิจัยหลายอย่าง เช่น การทดลองเฟส 3 และยาต้านไวรัส เป็นต้น จะต้องปรับเปลี่ยนรับมือกับโรคให้เท่าทัน

 

  • พบหายจากโควิด แต่อาการปอดอักเสบยังคงอยู่ 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าอาการปอดอักเสบรุนแรงจะพบในกลุ่มผู้สูงอายุ และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงที่มีความผิดปกติหลงเหลืออยู่  และจะพบในกลุ่มโรคหัวใจ โรคปอด และโรคไตเรื้อรัง จากข้อมูลของไทยในระลอก 4 ตั้งแต่มิ.ย. คนไข้ที่เป็นปอดอักเสบต้องอยู่รพ. ประมาณ 30-50 % แล้วแต่ประเภทของรพ. และช่วงเวลา

โดยใน 100 คนที่เป็นโรคโควิด ประมาณ 10% ต้องใช้ออกซิเจน และประมาณ 3% ต้องใช้ออกซิเจนขั้นสูง  หรือบางทีก็หายใจเองไม่ได้ คนเหล่านี้จะอยู่ในห้องไอซียู และมีอัตราการเสียชีวิต ประมาณ 1% ส่วนอีก 2% ก็สามารถรอดได้

“ในกลุ่มที่รอดมาได้นั้น จะเป็นกลุ่มที่มีผลหลงเหลือที่ปอดจำนวนมาก ซึ่งปอดอาจจะใช้เวลาซ่อมแซม โดยระยะแรกจะเป็นการอักเสบของปอดจากการติดเชื้อ ระยะที่สอง จะเป็นภูมิต้านทานที่พยายามจัดการไวรัสมากเกินไป จนทำร้ายปอดและอวัยวะอื่นๆ  ระยะที่สาม ซ่อมแซม ฟื้นฟูปอด ซึ่งกำลังจับตาดูกันว่าปอดอักเสบที่เกิดตามหลังจากโควิดหายแล้วเป็นอย่างไรบ้าง และระยะที่สี่ ออกจากรพ.3 เดือน อาจจะเกิดปอดเป็นพังพืดจากโควิด-19 ซึ่งยังไม่แน่ชัดในข้อมูล ว่าใครจะเกิดปอดอักเสบ หรือปอดเกิดพังพืด” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

 อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายและมีอาการปอดอักเสบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ต้องถอดบทเรียนจากต่างประเทศ โดยในต่างประเทศเบื้องต้น มีประมาณ  10-20%  หรือคนที่เป็นโควิด100 คน มี 1 คน ป่วยหนักเต็มที่ที่รอดได้  หรือ คนที่เป็นโควิด 1,000 คน อาจจะมีเพียง 30-50 คน ที่จะรอดได้  ต้องศึกษาดูข้อมูลของประเทศไทยต่อไป

 

  • จัดทำคู่มือดูแลปอดให้แข็งแรง

ตอนนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องปอด เพราะถือเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 โดยกรมการแพทย์ ขอเชิญชวนผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ขอให้ร่วมตอบแบบสอบถาม ผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบต่อไป

ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่าโควิด-19 เป็นโรคที่ชอบปอดมาก ซึ่งเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายโรคนี้จะทำให้เกิดปอดอักเสบ และไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะตอนติดเชื้อเท่านั้น แต่มีผลระยะยาว ต่อให้หายจากโควิด-19 แต่ก็อาจจะเป็นโรคปอดอักเสบได้ 

ศ.ดร.พญ.อรพรรณ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากการศึกษาประเทศยุโรป พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ  50-60% ประสิทธิภาพปอดจะแย่ลง และกว่าจะหายจะใช้เวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน ดังนั้น หลังจากติดเชื้อ และหายจากโควิด-19 คนไข้จะมีผลกระทบที่ปอดอยู่  โดนเฉพาะคนไข้ที่มีอาการรุนแรง อยู่ไอซียู ผลกระทบจะอยู่ยาวนาน จึงจำเป็นที่ต้องดูแลปอดอย่างใกล้ชิด

“ข้อมูลในไทยจากต้นปีถึงปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 1.4 ล้านคน และคนไข้ประมาณ 30% นอนรพ. นั่นหมายความว่าคนไข้ของไทย หลายแสนคนปอดอาจจะมีปัญหา และต้องใช้เวลา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ โรคเรื้อรังต่างๆ เพราะเมื่ออายุมากปอดมีการเสื่อมไปตามการใช้งาน หรือผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคมะเร็งปอด เบาหวาน ไขมัน ความดัน ภาวะอ้วน ล้วนส่งเสริมให้ปอดแย่ลงทั้งนี้  โครงการครั้งนี้ จึงเป็นการจัดทำสื่อ เพื่อให้ทุกคนนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ช่วยให้ปอดแข็งแรงมากขึ้น” ศ.ดร.พญ.อรพรรณ กล่าว