ส่อง 7 "เมกะเทรนด์" เปลี่ยน "กรุงเทพฯ" สู่ "เมืองน่าอยู่" ในอีก 30 ปีข้างหน้า
"ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ" ร่วมมือ กับศูนย์วิจัย Arup Foresight and Innovation ประเทศออสเตรเลีย ศึกษาแนวโน้ม "เมกะเทรนด์" ปี 2050 เปลี่ยนพื้นที่เมือง กทม. ปริมณฑล พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สู่ "เมืองน่าอยู่" ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการพัฒนาความเป็นเมืองต่ำกว่า 30% เพิ่มเป็นมากกว่า 50% อย่างในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประชากรของกรุงเทพมหานครเพิ่มเป็น 2 เท่า จนกลายเป็นมหานครที่เต็มไปด้วยผู้คนมากกว่า 10.5 ล้านคน
การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองที่ขาดการวางแผนและการเกิดขึ้นของ COVID-19 นับเป็นเครื่องเตือนใจถึงความเป็นเมืองที่เปราะบางและส่งผลกระทบต่อประชาชน วิกฤตนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลต่อความเป็นเมือง
“ดร.การดี เลียวไพโรจน์” ผู้อำนวยการบริหารฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) มองว่า อย่างไรก็ตามในสภาวการณ์ดังกล่าว ยังมีปัจจัยบวกต่อการพัฒนา อาทิ เทคโนโลยีที่กำลังเฟื่องฟู ระบบพลังงานที่เปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียนและการขนส่งที่เริ่มใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ กำลังขยายขอบเขตใหม่ของการเชื่อมต่อทางสังคม ซึ่งล้วนเปลี่ยนแปลงและการขยายเมืองไปในทางที่ดีขึ้น
ล่าสุด ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ร่วมมือ กับศูนย์วิจัย Arup Foresight and Innovation ประเทศออสเตรเลีย ทำการศึกษาแนวโน้มเมกะเทรนด์ (Mega Trends) ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2050 ที่เป็นตัวกำหนดอนาคตของความเป็นเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและเมืองใกล้เคียง หรือเรียกว่า Greater Bangkok ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกไป 150 กม. เพื่อสำรวจปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและวิสัยทัศน์อันหลากหลายที่จะเป็นแนวทางเปลี่ยนแปลงให้ Greater Bangkok พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปสู่ "เมืองน่าอยู่" ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ดร.ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า Greater Bangkok จะเกิดการพัฒนาไปสู่ 7 เมกะเทรนด์ ที่สำคัญ ได้แก่
1. ความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน (Wellbeing for all) การเติบโตของเมืองในกรุงเทพฯ นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนประมาณ 1 ใน 4 และก่อให้เกิดโรคต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตคิดเป็น 13 ล้านคนทั่วโลกต่อปี ดังนั้น ทุกชีวิตมีค่าที่จะรักษาและให้ความสำคัญการสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน เพราะสุขภาวะไม่ใช่แค่เราแต่รวมไปถึงสภาพแวดล้อมรอบตัว
2.ประเทศชาญฉลาด (Wise nation) คาดว่าในปี 2025 คนไทยจะมีอายุขัยสูงขึ้นเฉลี่ย 72.6 ปี (เพศชาย) และ 78.1 ปี (เพศหญิง) และมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยจะมีอายุมากกว่า 60 ปีภายในปี 2050 ส่งผลให้การเติบโตของจีดีพีประเทศลดลง 0.75% ในช่วง 30 ปีข้างหน้า รายจ่ายสวัสดิการสุขภาพของผู้สูงวัยไทยเพิ่มขึ้น 4 เท่าระหว่างปี 2019 - 2022 เกิดโอกาสแรงงานสูงวัย จากการวิจัยพบว่าคนงานอายุมากกว่ามีผลงานดีกว่าคนงานคนรุ่นใหม่ในงานด้าน Soft Skills (ทักษะการจัดการ ทักษะทางสังคม และความภักดี) ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนนี้เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำไปสู่ประเทศชาญฉลาด
3.การครอบงำด้วยข้อมูล (Data dominance) Internet of Thing (IoT) ภาคเทคโนโลยีใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนามากกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างไรก็ตามการพัฒนาเมืองอัจฉริยะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ โดย McKinsey and Co ประมาณการแอปพลิเคชั่นที่นำมาใช้พัฒนาเมืองอัจฉริยะในอาเซียนว่า สามารถลดการแพร่มลพิษได้ 260-270 กิโลตัน หลีกเลี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 5,000 คน สร้างงานใหม่ 1.2-1.5 ล้านตำแหน่ง และประหยัดค่าครองชีพได้ 9-16 พันล้านดอลลาร์
4.ความโปร่งใสในทุกแพลตฟอร์ม (Platform transparency) การลุกขึ้นมาเรียกร้องของประชาชนไทยและทั่วโลกเพิ่มขึ้น 11.5% ระหว่างปี 2009-2019 ทำให้เกิดสาธารณูปโภคพื้นฐานระบบดิจิทัลที่สามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการศึกษาภาครัฐมากขึ้น อันดับดัชนีความพร้อมทางด้านเครือข่ายของไทยเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนอยู่ที่อันดับ 56 ในปี 2019 จากอันดับ 67 ในปี 2015 การเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการใช่้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เป็นจุดแข็งที่สำคัญของคนที่อยู่อาศัยใน Greater Bangkok ช่วยผลักดันให้นโยบายและการวางแผน จัดทำขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของประชนชนมากขึ้น
5.จากขยะสู่อาชีพ (Waste to jobs) ภายในปี 2025 คาดว่าไทยจะมีขยะพลาสติกที่ขาดการจัดการ 3.16% ของพลาสติกทั่วโลก ก่อมลภาวะพลาสติกอันดับ 6 ของโลก ในทางตรงกันข้ามเทคโนโลยีที่เข้ามาในหลากหลายอุตสาหกรรม จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและงานใหม่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก พบว่า การนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ อาจส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากถึง 324 พันล้านดอลลาร์ และสร้างงานในเมืองใหญ่ต่างๆ ของเอเชียได้มากกว่า 1.5 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2042 รวมทั้งการแปรรูปพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ พลิกสถานการณ์ของไทยในขณะนี้ได้
6.วันหยุดเพื่อสุขภาพ (Health holidays) ภาคการท่องเที่ยวมีส่วนต่อการสร้างการเติบโตของจีดีพีให้กับประเทศ คิดเป็น 21.6% ของจีดีพีทั้งประเทศในปี 2018 และได้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำของโลกสำหรับคนวัยเกษียณ และนักท่องเที่ยวที่แสวงหาการดูแลสุขภาพ ผ่านอุตสาหกรรมความเป็นอยู่ที่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Wellbeing Industry) จนเป็นจุดหมายวันหยุดเพื่อสุขภาพ
7.ความกลมกลืนของชุมชนเมือง (Village harmony) เมื่อสูงวัยต้องต่อสู่กับค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ จึงมีแนวโน้มว่าคนไทยจะแสวงหาการใช้ชีวิตในหมู่บ้านที่สงบสุขมากขึ้น โดยให้คุณค่ากับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพวกเขามากขึ้น การขยายการขนส่งสาธารณะไปยังชนบทราคาถูก จะช่วยเปิดทางให้การพัฒนาเศรษฐกิจกระจายออกไป ลดความแออัด การใช้ยานพาหนะร่วมกัน (Shared Mobility) ที่จะเติบโตควบคู่ค่านิยมในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพส่วนบุคคล
“โอกาสและความท้าทาย จะสร้างมุมมองใหม่รวมถึงเตรียมตัวความรับมือในสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นใน Greater Bangkok ระยะ 30 ปีข้างหน้า ในแต่ละมิติของ เมกะเทรนด์ที่นอกจากจะสร้างความตระหนักรู้แล้ว ยังช่วยให้นักพัฒนาเมือง ภาครัฐ และ เอกชน มองถึงความเป็นไปได้ที่จะช่วยให้สร้างเมืองสำหรับทุกสิ่งมีชีวิตที่น่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน” ดร.ภัณณิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมกะเทรนด์ มีทั้งโอกาสด้านดีและภัยคุกคาม เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงด้านใดด้านหนึ่ง ความเป็นจริง สังคมมีความสลับซับซ้อนและอนาคตจะเป็นการผสมกันระหว่างด้านบวกและลบ สำหรับชุมชนและเมือง สิ่งที่จำเป็น คือ การปรับตัว ระบุความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ล่วงหน้า ทำงานประสานกัน จัดการกับความเสี่ยง ไม่ว่าจะในเรื่องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี ต้องทำงานร่วมกัน และตัดสินใจร่วมกัน