คนชั่วต้องได้รับผลกรรม! ปธ.ศาลฎีกาแนะ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญคดีโกงลำดับแรก

คนชั่วต้องได้รับผลกรรม! ปธ.ศาลฎีกาแนะ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญคดีโกงลำดับแรก

"ปธ.ศาลฎีกา" ชี้ กระบวนการยุติธรรม ทุกหน่วยงาน ต้องทำให้คนชั่วได้รับผลจากการ "ทุจริต" โดยเร็ว แนะ "ป.ป.ช." ให้ความสำคัญการพิจารณา "คดีโกง" ลำดับแรก

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา บรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทของกระบวนการยุติธรรมกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศไทย ในเวทีสัมมนาสาธารณะ เรื่อง กลยุทธ์การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศ ซึ่งจัดขึ้นโดยนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปรับปรามการทุจริตรระดับสูง(นยปส.) รุ่นที่ 12 ตอนหนึ่ง ว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราคาดหมายกันว่าการทุจริตในประเทศไทยน่าจะลดลงบ้าง เพราะมีการป้องกันและปราบปราม ส่งดำเนินคดี และศาลพิพากษาไปแล้วจำนวนมาก แต่จากปริมาณคดีที่อยู่ในศาล ป.ป.ช. ป.ป.ท. เราอาจต้องยอมรับความจริงว่าเราอาจจะยังไปไม่ถึงเป้าประสงค์นั้นในเร็ววันนี้ แต่ตนเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว ไม่ผิดหรอกที่คนจะกระทำผิดมากขึ้นในสภาพสังคมที่ต้องต่อสู้กับการปากกัดตีนถีบอย่างที่เห็นทุกวันนี้ เพราะไม่มีใครอยากจะอยู่ในพื้น หรือฐานของคนอื่น แต่อยากจะอยู่ระดับที่สูงกว่าและมีอำนาจเหนือกว่าทั้งสิ้น

นางเมทินี กล่าวว่า ตนเคยคุยกับผู้ต้องขังหลายรายที่กระทำผิดไป ทั้งที่เขารู้ว่าการกระทำของเขาถ้าถูกจับกุมดำเนินคดีอาจถูกจำคุกหรือหนักกว่านั้น แต่คนกลุ่มนี้ยังเลือกกระทำทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อสอบถามได้รับคำตอบว่าขณะที่เขาทำไม่คิดว่าจะโดนจับ หรือพูดง่ายๆ ขณะตัดสินใจกระทำผิดเขาคิดว่ามีโอกาสรอด จากการที่เห็นหลายๆ คนหลายๆ กลุ่มที่ก็ยังสามารถรอด ลอยหน้าในสังคมได้ เป็นสิ่งกระบวนการยุติธรรมต้องกลับมามองตัวเองว่าในฐานะที่เราเป็นปลายทางของการแก้ไขปัญหาการกระทำความผิด เมื่อคนคิดว่าเขาทำความผิดแล้วจะรอด สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมีปัญหาแล้ว กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถทำให้เขาเชื่อมั่นหรือทำให้เขาเกรงกลัวว่าเมื่อไหร่ที่เขาขยับไปทำความผิดเขาจะต้องถูกจับกุมไปดำเนินคดี เมื่อคนคิดว่าเขาคุ้มค่าที่จะเสี่ยง

นางเมทินี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ การกระทำการทุจริตยังเป็นเรื่องการก่ออาชญากรรมที่มีความร้ายแรงแต่ไม่เห็นสภาพของความรุนแรงเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ไม่เห็นคนที่เลือดตกยางออก ไม่เห็นการบาดเจ็บ ไม่เห็นสายตาของการถูกทำร้ายเหมือนความผิดฆ่าคนตาย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วคนก็รู้สึกว่าทำได้ง่าย ไม่ต้องกระทบกระเทือนความรู้สึก คนกระทำความผิดทุจริตไม่ได้เห็นผลที่เกิดขึ้นด้วยตาตนเอง และเขาจะคิดว่าเป็นประโยชน์กับตัวเขาเองเลยกล้าที่จะทำความผิดในลักษณะนี้จับก็ยาก เพราะเป็นการสมประโยชน์กัน คนให้ก็ยินดีให้ เพราะสิ่งที่ให้ไปคุ้มค่าที่จะเสีย คนรับก็คิดว่าเป็นโอกาสของตัวเองที่จะรับ ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมจะยอมรับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้

 

    “เราเคยได้ยินกันว่า คนทำชั่วจะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี จนกว่าความชั่วนั้นจะให้ผล กระบวนการยุติธรรมจึงต้องสงเคราะห์ให้เขาได้เห็นผลเร็วๆ ดิฉันคิดว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน ป.ป.ช. ป.ป.ท. อัยการ ศาล รวมไปถึงหน่วยงานที่รองรับคนผิดอย่างกรมราชทัณฑ์นั้น จะต้องปรับบทบาทของตนเองในการทำหน้าที่ โดยเน้นให้เห็นความสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ ความถูกต้อง เป็นธรรม แม่นยำรวดเร็ว และโปร่งใส่ ตรวจสอบได้”นางเมทินี กล่าว

 

    นางเมทินี กล่าวว่า เรื่องความรวดเร็วถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรมแม้ศาลและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกส่วนจะพยายามกำหนดมาตรฐานระยะเวลาเพื่อให้มีการพิจารณาคดีที่มีความผิดทางอาญาให้เสร็จในเวลารวดเร็ว แต่ด้วยปริมาณ หรือเหตุจำเป็น รวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ก็ทำให้กระบวนในการพิจารณา พิพากษาคดีอาจมีความล่าช้าไปบ้าง แต่เราจำเป็นต้องเน้นย้ำให้ความสำคัญกับคดีทุจริตเป็นเรื่องแรกๆ เรื่องต้นๆ เพราะการกระทำผิดที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน สมมุติว่า 4-5ปีที่จะลงโทษได้จนกระทั่งถึงในชั้นคำพิพากษาถึงที่สุด ทำให้คนไม่เกรงกลัวแล้ว เพราะลืมเรื่องราวนั้นไปแล้ว ในขณะที่เกิดเรื่องใหม่ๆ เป็นเรื่องอยู่บนหน้าสื่อทุกฉบับ ทุกช่อง เป็นเรื่องที่ดูร้ายแรง แต่กว่าจะที่จะผ่านเข้าสู่กระบวนการศาลพิพากษาลงโทษ ใช้เวลานานจนคนลืมเรื่องราว ลืมความร้ายแรงและรุนแรง คนจึงขาดความยับยั้งชั่งใจที่จะเกรงกลัวความผิดที่จะได้รับ ดังนั้นความรวดเร็ว ฉับพลันในสถานการณ์หรือในคดีบางประเภทมีความจำเป็น และจะส่งผลทำให้แก้ไขปัญหาที่จะเกิดการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนั้นได้ด้วย

 

    นางเมทินี กล่าวว่า เรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ แน่นอนว่าเราทำหน้าที่ในการค้นหาความจริงว่ามีการกระทำความผิดจริง คนที่ถูกกล่าวหาหรือจำเลยคนนั้นเป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้น คนที่จะเป็นคนทำหน้าที่ค้นหาความจริง พิสูจน์ความผิด จะต้องไม่ทุจริตเสียเอง นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ด้วยว่าเราจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม อีกส่วนที่สำคัญคือ การคัดเลือกคนเข้ามาทำงานในองค์กรตั้งแต่ต้นทางเป็นเรื่องความสำคัญ ไม่ใช่เพียงความรู้ความสามารถ แต่ต้องมีทัศนคติที่ดี ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาได้ และตลอดระยะเวลาของการทำงานซึ่งจะจะยาวนานสำหรับข้าราชการในแต่ละส่วนงาน ต้องมีการตรวจสอบการทำงานสม่ำเสมอ ไม่ใช่เพื่อการจับผิด แต่เพื่อดูคนของเราที่จะไปทำสิ่งที่มีความสำคัญ เราจะไปตรวจสอบคนอื่น ตัวเราเองต้องสุจริตเสียก่อน และต้องทำให้เห็นว่าเราสุจริตจริง เชื่อว่าทุกองค์กรมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกัน เราไม่มีทางทำให้ทุกคนเป็นคนดี และไม่ต้องอายที่มีคนไม่ดีอยู่ในองค์กร แต่เราจะอายถ้าปล่อยให้คนไม่ดีอยู่ในองค์กรของเรามากกว่า