Pig Board เคาะแผนช่วยผู้เลี้ยงหมู ดันตั้งโรงงานผลิตวัคซีนขายในอาเซียน
Pig Board เห็นชอบ 3 มาตรการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ตามข้อเสนอของสภาเกษตรกร จัดเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งโรงงานผลิตวัคซีน ขายในอาเซียน
แม้จะยืนยันว่า การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่การล้มตายจากโรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร(PRRS) นั้นส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อยอย่างหนักและอาจถึงแก่การสูญเสียอาชีพกันเลยทีเดียว ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board)จึงเห็นชอบให้มีมาตรการเยียวยาตามที่ สภาเกษตรกรเสนอ
ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ว่า เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการป่วยตายของสุกรต่อเกษตรกรรายย่อย ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบตามข้อเสนอของสภาเกษตรกรแห่งชาติ กรณีโครงการฟื้นฟูเยียวยา และปรับโครงสร้างการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายกลาง ถึงรายย่อยทั้งประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแบบยั่งยืน
ใน 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1. มาตรการเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการทันที เสนอให้มีมาตรการต่างๆ ในการลดความเสี่ยงและการควบคุมโรคในสุกร รวมถึงการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคในสุกร
อ่านข่าว : ชุมพร พบสุกรเป็นโรค PRRS ป่วยตายจำนวนมากใน 2 อำเภอ
2. ระยะปานกลาง เสนอให้เร่งรัดให้กรมปศุสัตว์เพิ่มศักยภาพในการตรวจวินิจฉัย ชันสูตรโรค ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และสนับสนุนให้มีการวิจัย และพัฒนาการเลี้ยงสุกรเข้าสู่ระบบ Pricision agriculture ที่เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละระดับ รวมถึงการวิจัยวัคซีนและเวชภัณฑ์ต่างๆ โดยสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศร่วมกับกรมปศุสัตว์
3. มาตรการระยะยาว ได้เสนอให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้ประเทศไทยปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย หรือควบคุมโรคได้ด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้ภาคเอกชนหรือกลุ่มเกษตรกร ตั้งโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในประเทศและจำหน่ายในกลุ่มอาเซียน
โดยอาจอยู่ในรูป 4 P ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง ด้านระเบียบ ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการเพื่อไม่ให้ขัดกับกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะกฎหมายด้านการเงินการคลังอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้ง ภายใน 45 วัน
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ระบาดของโรคในสุกร เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่มีการตรวจพบว่ากลายพันธุ์แพร่กระจายในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งต่างไปจากที่เคยตรวจพบในทวีปยุโรปและเอเชียมาก่อนหน้านี้ โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร(PRRS) นั้นทำให้มีสุกรที่ป่วยตายจากโรคถึง 30%
ในขณะที่เกษตรกรไม่สามารถเลี้ยงสุกรได้อีก เพราะยังมีเชื้อโรคยังสะสมอยู่ในพื้นที่และทำให้เกิดโรคซ้ำในคอกหรือฟาร์ม เกษตรกรบางรายถึงขั้นต้องสูญเสียอาชีพการเลี้ยงสุกร นอกจากนี้การป่วยตายของสุกรยัง กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร ธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์สัตว์ รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง มูลค่าความเสียหายโดยรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท
ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสุกรในการบริโภคอย่างรุนแรงซึ่งหมายถึงไทยต้องสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกรไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้ หากไทยสมารถฟื้นตัวได้เร็ว โอกาสในอุตสาหกรรมสุกรของไทยก็จะเดินหน้าไปได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้าน ที่ปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนเนื้อสุกรเพื่อบริโภคอย่างรุนแรง