โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล รับมือโลกร้อน เสริมความมั่นคงด้านน้ำ
ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลลดลงต่อเนื่องบางปีต่ำกว่าร้อยละ 30 ของระดับกักเก็บ ผลจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้ฝนแต่ละปีมีความผันแปรค่อนข้างสูง โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพลจึงเป็นโครงการที่จะเข้ามาเสริมความมั่นคงด้านน้ำของชาติ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลปีละประมาณ 1,795 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ผ่านแนวส่งน้ำยวม- เขื่อนภูมิพล โครงการได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อ 15 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งกว่าจะผ่าน ได้มีการปรับปรุงรายงานผลกระทบต่อเนื่องนับแต่ปี 2560 เป็นต้นมาตามข้อสังเกตของคณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ(คชก.) หลังจากนี้กรมชลฯจะได้เตรียมรายละเอียดของโครงการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ(กนช.)และต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาคาดว่าจะสามารถเสนอได้ประมาณปลายปี 2565
“เขื่อนภูมิพลมีความจุน้ำที่ระดับกักเก็บ 13, 462 ล้านลบ.ม.จะมีปริมาณน้ำกักเก็บเฉลี่ยประมาณ 4,000-5,000 ล้านลบ.ม. บางปีมีปริมาณน้ำน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 30 ส่งผลต่อปริมาณน้ำใช้การได้ในช่วงฤดูแล้งไม่เพียงพอปีละ 2,000-3,000 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำลุ่มเจ้าพระยา 20,415 ล้านลบ.ม.ต่อปี แต่ละปีขาดแคลนประมาณ 1,230ล้านลบ.ม. อีก 20 ปีข้างหน้าความต้องการใช้เพิ่มเป็น 22,676 ล้านลบ.ม. จะทำให้ขาดแคลนประมาณ 2,633 ล้านลบ.ม. หากมีโครงการนี้จะสามารถทดแทนปริมาณน้ำที่ขาดแคลนได้ และจะมีปริมาณน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร 1.6 ล้านไร่ทำการเกษตรฤดูแล้งเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนอีกด้วย โดยพื้นที่ 1.6 ล้านไร่นี้ไม่ใช่พื้นที่ใหม่แต่เป็นพื้นที่การเกษตรเดิมซึ่งทำการเกษตรได้เพียงปีละครั้งเท่านั้นนอกจากนั้นยังช่วยรักษาระบบนิเวศ ในกันผลักดันน้ำเค็มที่รุกแม่น้ำเจ้าพระยาที่รุนแรงมากขึ้น ป้องกันค่าความเค็มของน้ำประปา เพื่อการอุปโภค บริโภค การแพทย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การเกิดโครงการนี้จึงนับเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศ และกรมชลฯพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อทำความเข้าใจและดูแลผู้ได้รับผลกระพบในพื้นที่โครงการ และร่วมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุดเพื่อที่จะทำให้โครงการนี้ได้เกิดและนำมาซึ่งความมั่นคงด้านน้ำในทุกมิติ”
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า งบประมาณโครงการนี้ 70,000 กว่าล้านบาท แต่เมื่อสร้างเสร็จจะส่งประโยชน์ต่อประเทศอย่างมากเพราะน้ำคือต้นทางของทุกสิ่ง ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมยืนยันว่าเป็นไปตามระเบียบการศึกษาที่มีกฎหมายคุมทุกระดับ รวมถึงการพิจารณาทางเลือกอื่นกรณีหากไม่มีโครงการนี้ ก็พบว่าไม่สามารถมีปริมาณน้ำมาทดแทนกันได้แบบมีนัยสำคัญต่อลุ่มเจ้าพระยาที่ดูแล 22 จังหวัด หรือกรณีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทานเดิมที่ก่อสร้างมาเป็นเวลานาน และกรมชลฯก็ได้ดำเนินการควบคู่กันไป รวมถึงการปรับวิธีการปลูกข้าวเปียก-สลับแห้ง ซึ่งเป็นการพิจารณาทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน
สำหรับประเด็นที่มีการปรับปรุงแก้ไขอาทิ 1. กรมจะสนับสนุนงบประมาณให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชปลูกป่าเพิ่ม2 เท่า หรือประมาณ 7 พันไร่ตามหลักวิชาการ 2.ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 29 ราย 34 แปลง จะมีการชดเชยอย่างเป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด 3.ด้านพันธุ์สัตว์น้ำได้ร่วมกับกรมประมงศึกษาระบบนิเวศและแนวทางแก้ไข จะมีการทำบันไดทางผ่านปลาเพื่อการอนุรักษ์ การป้องกันสัตว์น้ำข้ามลุ่มโดยระบบการยับยั้งปลาด้วยคลื่นเสียง การติดตั้งระบบรวบไข่ปลาจมและไข่ปลาลอยออกจากสถานีสูบน้ำเป็นต้น 4.ออกแบบเขื่อนโดยให้ความสำคัญกับธรณีวิทยา ระบบสูบน้ำจะลึกลงไปใต้ผิวดิน 30 เมตร จึงไม่มีผลกระทบต่อตลิ่ง 5.การออกแบบปากอุโมงค์ทางน้ำออกที่บ้านแม่งูด รวมถึงการปรับปรุงลำห้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำ จะไม่กระทบต่อประชาชนห้วยแม่งูด สำหรับพื้นที่ 5ไร่ใช้สร้างอาคารสลายพลังงาน จะชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม 6.พื้นที่กองวัสดุจะมีการป้องกันไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศน์
สำหรับเขื่อนน้ำยวมตั้งอยู่บนน้ำยวมเหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมยทางเหนือน้ำ เป็นเขื่อนหินถมดาดคอนกรีตกักเก็บน้ำ 68.74 ล้านลบ.ม. อุโมงค์ส่งน้ำยาว 61.52 กิโลเมตร จะผันในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิ.ย.ถึง ม.ค. ไม่ผันในช่วงฤดูแล้ง ระหว่างก.พ.ถึง พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีน้ำน้อย