"โควิด-19" ทำวันจ่าย "สารทเดือนสิบ" เงียบเหงา ปชช.ออกมาจับจ่ายซื้อของบางตา

"โควิด-19" ทำวันจ่าย "สารทเดือนสิบ" เงียบเหงา ปชช.ออกมาจับจ่ายซื้อของบางตา

วันจ่าย "สารทเดือนสิบ" ครั้งแรกช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่สงขลาเงียบเหงา ประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อของและซื้อขนมเดือนสิบบางตา เพื่อนำไปทำบุญในวันสารทเดือนสิบบุญแรกพรุ่งนี้ ขณะที่ราคาขนมต้มปีนี้ราคาคงเดิมร้อยละ400 บาท รวมทั้งขนมเดือนสิบก็ยังขายราคาเดิม

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศวันจ่ายวันสารทเดือนสิบครั้งแรก ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ จ.สงขลา เงียบเหงา โดยเฉพาะที่ตลาดทรัพย์สินพลาซ่า อ.เมือง จ.สงขลา ประชาชนได้ออกไปจับจ่ายซื้อขนมเดือนสิบไม่มากและซื้อแบบประหยัด เนื่องจากปีนี้มีมาตรเข้มงวดในการจัดเทศกาลทำบุญวันสารทเดือนสิบปีนี้จะไม่เหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา มีข้อกำหนดจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา ที่ทางวัดและประชาชนจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19

และเป็นการรักษาประเพณีและวัฒนธรรม การทำบุญเดือนสิบให้สามารถสร้างศาลาวางหมรับ และอาหารคาวหวานได้ (ศาลารับ-ส่ง ตายาย) แต่ห้ามมีกิจกรรมชิงเปรต หลังจากเสร็จพิธี ให้งดการนั่งรับประทานอาหารร่วมกันและเดินทางกลับบ้านทันที

สำหรับวันสารทเดือนสิบประชาชนส่วนใหญ่จะให้ความสนใจการทำบุญเดือนสิบครั้งที่ 2 มากกว่าซึ่งถือเป็นการทำบุญใหญ่คือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2564 อีกทั้งในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นวงกว้างในพื้นที่จังหวัดสงขลา สภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องใช้จ่ายแบบประหยัดและออกมาจับจ่ายซื้อขนมเดือนสิบน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ในวันนี้บรรดาแม่ค้านำขนมเดือนสิบมาวางจำหน่ายให้ประชาชนได้เลือกซื้อเป็นจำนวนมาก ทั้งขนมลา ขนมต้ม ขนมเจาะหู ขนมพอง ขนมบ้าและขนมเทียนเพื่อเตรียมนำไปใช้ในการทำบุญวันสารทเดือนสิบบุญแรกที่วัดในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ย.64)

อย่างไรก็ตาม สำหรับราคาขนมเดือนสิบในปีนี้ขนมต้มราคาคงเดิมร้อยละ400 บาท ขนมเจาะหู ราคาขายร้อยละ 120 บาท ขนมเทียนอันละ 4 บาท ขนมพอง ชิ้นละ 4 บาท และขนมลากิโลกรัมละ 140 บาท ซึ่งยังคงเป็นราคาเดิม สำหรับราคาผลไม้ องุ่นไร้เมล็ด กก.ละ 70 บาท บาท ลองกอง กก.ละ 50-60 บาท แอปเปิล 35 บาท

สำหรับประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช เริ่มตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2466 เป็นต้นมา ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อซึ่งมาจากทางศาสนาพราหมณ์โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา

โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชน และญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกภูมิในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบจะมีขึ้น 2 ครั้ง คือ ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 และวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี แต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะนิยมทำบุญกันมาก จะเป็นการทำบุญครั้งที่ 2 ถือเป็นการทำบุญใหญ่คือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10