ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้า "โมโนโครนอล แอนติบอดี คอกเทล" 4,000 โดส

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้า "โมโนโครนอล แอนติบอดี คอกเทล" 4,000 โดส

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้าเตรียมนำเข้ายาโมโนโครนอล แอนติบอดี คอกเทล  4,000 โดส ราคาโดสละ 50,000 บาท กระจายรพ.รัฐ-เอกชน ช่วยผู้ป่วยโควิด ลดอาการรุนแรง เสียชีวิต

วันนี้ (21 ก.ย.2564) ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวในงาน“การรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019: ยาแอนติบอดี ค็อกเทล หรือ ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ”  ว่าการให้วัคซีนจึงเป็นแนวทางที่จะทำให้คนในสังคมเกิดความมั่นใจ และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้มีการนำวัคซีนมาให้แก่ประชาชน และล่าสุดได้มีการนำมาฉีดให้แก่เด็ก เพราะต่อให้เด็กติดโควิด-19 แล้วอาการไม่หนัก แต่มีผลกระทบด้านการศึกษาและประสบการณ์ทางสังคมที่หายไป 1 ปี ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงพยายามผลักดันให้เด็กได้รับวัคซีน

  • "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" นำเข้าแอนติบอดี คอกเทล

“โรคนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน ซึ่งเมื่อเรามีวัคซีนเพียงพอ โรคโควิดก็จะคล้ายๆ โรคไข้หวัด แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ต้องมีการจัดการระบบการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยอย่างถูกต้อง และต้องมีการให้ความรู้แก่ประชาชน รัฐบาลกำหนดให้ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สามารถจัดหาวัคซีน และยาในภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการนำเข้า ยาโมโนโครนอล แอนตี้บอดี้ คอกเทล เพื่อกระจายไปยังรพ.ต่างๆ และได้ร่วมกับรพ. 2-3 แห่ง เพื่อศึกษาวิจัยยาแอนติบอดี ไวรัสตัวใหม่ คาดว่าน่าจะได้ใช้เร็วๆ นี้" ศ.นพ.นิธิ กล่าว  

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เตรียมนำเข้ายาโมโนโครนอล แอนติบอดี คอกเทล  4,000 โดส กระจายให้ทั้งรพ.ทั้งภาครัฐ และเอกชน 50 แห่ง ที่ลงทะเบียนแจ้งความต้องการใช้เข้ามา เพื่อรักษาโควิด เนื่องจากมีประสิทธิภาพยับยั้งในระบบเซลล์ ใช้รักษาผู้ป่วยหนักมีอาการรุนแรง ผู้สูงอายุ อ้วน โรคเรื้อรัง  โดยยาดังกล่าวไม่ได้เป็นยาหลัก แต่เป็นยาทางเลือก ดังนั้นอาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย เบื้องต้นที่มีการนำเข้ามานั้น 1 โดสราคา 50,000 บาท ซึ่ง 1 โดสจะใช้ได้ 1 คน 

 

 

  • "ยาโมโนโครนอลฯ" ช่วยลดอาการหนักโควิด

"การที่จะมีอาวุธไปดูแลโควิดต้องมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งวัคซีน ยา การตรวจคัดกรอง และองค์ความรู้ที่มีการเปลี่ยนทุกวัน รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัส อยากให้ทุกคนเข้าใจ เพื่อให้เราอยู่กับมันได้ ฉะนั้น เมื่อข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กระบวนความคิดก็ต้องจะเปลี่ยนแปลง ขอให้เข้าใจว่าทุกคนต้องปรับตัวปรับความคิดที่มีในแต่ละช่วงเวลา  และขอให้มีความมั่นใจว่าวิวัฒนาการทางการแพทย์ จะสามารถช่วยให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม" ศ.นพ.นิธิ กล่าว 

ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จะใช้เพียงมาตรการต่างๆ อาจไม่เห็นผลชัดเจน  ต้องหลายๆ องค์ประกอบการ และการใช้ยาก็มีความสำคัญ อนาคตอาจจะมียาต้านไวรัสดีๆ หลายตัว เช่น ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ช่วยรักษาอาการคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงต้องเข้าไอซียู อย่าง กลุ่ม ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ทรัพยากรมากสุดและมีโอกาสเสียชีวิตมากที่สุด หากใช้อย่างเหมาะสมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงจริง จะทำให้ลดอาการป่วย และเสียชีวิตได้ 

ทั้งนี้  ทั่วโลกมีความต้องการใช้โมโนโครนอลฯ และราคาแพงมากถือเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ยานี้ ต้องมีกระบวนการคัดเลือกผู้ป่วยเพื่อใช้ยาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

  •  "แอนติบอดี คอกเทล" ยาต้านไวรัสลดการสูญเสีย 

รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการเตรียมพร้อมด้านการแพทย์มีการเตรียมไว้ตลอดเวลา เพราะจะต้องมีการดูแลให้เหมาะสม ลดการแพร่ระบาด และป้องกันโรคโควิด-19 ให้ได้ ซึ่งตอนนี้ มียอดผู้ป่วยรายใหม่ลดลง จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเรื่อยๆ ไม่มากขึ้น และทำอย่างไรให้ผู้ป่วยใหม่เข้าถึงการรักษาได้เร็วที่สุด และปกป้องกลุ่มเสี่ยง ไม่ให้เขาใช้เครื่องช่วยหายใจ และไอซียู ซึ่งนอกจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ต้องมีการใช้ยาที่ลดความรุนแรงได้ตั้งแต่แรก อย่าง แอนติบอดี คอกเทล ก็เป็นกลุ่มยาที่เป็นตัวเลือกในการลดอาการรุนแรง เสียชีวิตได้ 

ผศ. นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ทางสภากาชาดไทย มีการเตรียมรับมือโรคอุบัติใหม่และมีมาตรการต่างๆ รองรับ ไม่ว่าจะเป็น การขยายเตียง โดยเพิ่มทั้งเตียงภายใน และภายนอก เพิ่มเตียงไอซียูทั้งรพ.หลัก และรพ.สนาม มีการบริหารเตียงผู้ป่วย ผ่านการคัดแยกผู้ป่วยตามกลุ่มสีให้ดีเพื่อกระจายเข้าไปในที่ที่สามารถดูแล และควบคุมคุณภาพได้

"ส่วนการรักษานั้น ขณะนี้ยาป้องกันและช่วยลดความรุนแรงอยู่หลายตัว ซึ่งยากลุ่มใหม่ที่อยู่ในการศึกษา คือ กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่นำโปรตีนที่สร้างขึ้นจับกับส่วนของไวรัส ไม่ให้เข้าเซลล์มนุษย์ ดังนั้น ไวรัสจะไม่สามารถทำร้ายเซลล์ได้ ยาในกลุ่มนี้มีหลายตัวและการใช้ต้องใช้ในระยะของการติดเชื้อ ยังไม่แนะนำให้ใช้ในช่วงที่ช้าไปแล้ว หรือเลย 10 วันแล้ว เนื่องจากเป็นระยะของการกระตุ้นภูมิของร่างกาย" ผศ.นพ. โอภาส กล่าว

อย่างไรก็ตาม คงต้องอยู่กับโควิด ไปตลอด สิ่งที่เราต้องทำ คือ การทำให้ภูมิคุ้มกันในชุมชนมีสูงมากพอ ไม่สามารถให้ทำอะไรคนได้ แต่การฉีดและการกระตุ้นด้วยวัคซีนอาจจะไม่มีการตอบสนองที่ดี เช่น คนไข้ กินยากดภูมิ หรือบางคนไม่สามารถรับวัคซีนได้  ซึ่งสิ่งที่ทำให้ลดช่องว่างตรงนี้ คือการใช้ยา ทั้งยากินและยาฉีด การใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีจะเป็นการลดช่องวางได้อย่างดี  ช่วยทั้งรักษาและป้องกัน เหมือนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งยากลุ่มนี้ก็จะคล้ายๆ กันด้วย