รวมทุกข้อสงสัย ฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" ในเด็ก 12-17 ปี

รวมทุกข้อสงสัย ฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" ในเด็ก 12-17 ปี

หลังจากที่มีการปรับการเรียนการสอนให้เด็กๆ ได้เรียนออนไลน์มานาน ล่าสุด สธ. จัดทำแนวทางฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" ในเด็ก 12-17 ปี 4.5 ล้านคน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเปิดเรียน บนความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง

เมื่อ โควิด-19 ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักทั้งการใช้ชีวิต เศรษฐกิจ รวมถึงการเรียนของเด็กๆ ที่ต้องเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์มานานนับปี ความจำเป็นดังกล่าว ซึ่งไม่สามารถทดแทนการเรียนในห้องได้ วัคซีนโควิด-19 จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้กลับไปยังโรงเรียนภายใต้ความปกติใหม่

 

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแนวทางในการฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี ราว 4.5 ล้านคน โดยคาดเริ่มฉีด 4 ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการ เปิดเรียน ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่การ ฉีดวัคซีน ช่วยให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

 

เด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็เข้าเรียนได้ร่วมกับการเข้มงวดมาตรการป้องกันโรค ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทั้งนี้ อาจมีผู้ปกครองบางส่วนที่ยังมีความกังวลหรือข้อสงสัยในการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กในครั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจ ได้รวบรวม 7 เรื่องเกี่ยวกับการ ฉีดวัคซีน ในเด็ก ดังนี้

 

1. กลุ่มเป้าหมายคือใคร บังคับหรือไม่

 

สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการให้บริการวัคซีนใน กลุ่มเด็ก 12-17 ปี จะดำเนินการในกลุ่มนักเรียนทั้งสังกัดภาครัฐและเอกชน กลุ่มอาชีวะศึกษา และโรงเรียนสังกัดอื่นๆ โดยเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เรียนชั้นมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เช่น ปวช. มีประมาณ 4.5 ล้านคน โดยจะฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" ให้ครอบคลุมเพื่อเปิดภาคการศึกษา

 

ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความต้องการจากผู้ปกครองแล้วเสร็จใน 1-2 สัปดาห์ และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/สำนักอนามัย กทม. รวบรวมจำนวนนักเรียน ส่งให้กรมควบคุมโรคจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ คาดว่าจะเริ่มฉีดได้วันที่ 4 ตุลาคมนี้

อ่านข่าว : เปิดช่องทางฉีดวัคซีน12ปีขึ้นไป "เด็กนอกระบบ"

ทั้งนี้ จะมีการนัดหมายการฉีดที่โรงเรียน หรืออาจจัดบริการในสถานที่อื่นใกล้โรงเรียนได้ ดำเนินการฉีดพร้อมกันทุกชั้นปี โดยบุคลากรของโรงพยาบาลที่โรงเรียนประสานไว้ และมีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์ 30 วัน


สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวไม่ได้เรียนหนังสือ หรือกลุ่มนอกระบบการศึกษา สามารถเข้ารับวัคซีนที่โรงพยาบาลที่รักษาประจำได้ เด็กเรียนที่บ้านหรือโฮมสคูลก็ลงทะเบียนรับวัคซีนกับโรงพยาบาลใกล้บ้านได้เช่นกัน

 

การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กครั้งนี้ จะเป็นไปตามความยินยอมของนักเรียน และผู้ปกครอง ไม่เป็นการบังคับ

 

2. “ไฟเซอร์” กับการฉีดในเด็ก 12-17 ปี 

 

ขณะนี้ มีวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 12-17 ปีที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บริษัทเดียวคือ “ไฟเซอร์” (Pfizer) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA มีชื่อทางการว่า BNT162b2 ที่คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อไอโบเอ็นเท็ค (BioNTech) ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ให้สามารถใช้ได้ในประเทศไทย เมื่อวัน 24 มิถุนายน 2564 นับเป็นวัคซีนโควิดรายที่ 6 ที่ผ่านการอนุมัติจาก อย.

 

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการฉีดให้แก่กลุ่มเด็กและวัยรุ่นไปบ้างแล้ว โดยเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ฯลฯ และเตรียมฉีดให้เด็กอีก 5 ล้านคนทั้งประเทศ ขณะที่กรุงเทพมหานคร เตรียมฉีดให้ นักเรียน กลุ่มเสี่ยงสังกัดกรุงเทพมหานคร อายุตั้งแต่ 12 - 18 ปี

 

สำหรับการฉีดวัคซีน “ไฟเซอร์” ให้เด็กในต่างประเทศ ข้อมูลจาก บีบีซี ไทย รายงานว่าคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (JCVI) มีมติแนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี 200,000 คน ที่มีโรคประจำตัว เข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้เด็กในกลุ่มอายุเดียวกันที่มีสุขภาพดี โดยให้เหตุผลว่าในตอนนี้ ผลดีด้านสุขภาพที่จะได้จากการฉีดวัคซีนถือว่ายังน้อยเกินไป

 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลล่าสุด พบว่า หลายชาติในสหภาพยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี มีการเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนให้เด็ก อายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วน ฮ่องกง ก็มีเริ่มฉีดวัคซีนโควิด ให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเช่นกัน

 


3. ไฟเซอร์ มีผลข้างเคียง หรือข้อพึงระวังหรือไม่ 


ผลงานวิจัยในต่างประเทศ ในกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา พบว่า มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่คนจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งพบบ่อยกว่าในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชายหลังรับวัคซีนโดสที่ 2 อาจทำให้เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง แต่อาการก็มักจะหายไปเองในไม่กี่วัน


สถิติจากสหรัฐฯ พบว่า จำนวนเด็กที่เจอผลข้างเคียงน้อยมาก ในจำนวนเด็กอายุ 12-17 ปี 1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จะมีราว 60 คนด้วยกันที่เจออาการข้างเคียงนี้ (8 คนในจำนวน 1 ล้านคนสำหรับเด็กผู้หญิง) อัตราเกิดอาการนี้สูงกว่าในหมู่เด็กอายุน้อยกว่า นั่นเป็นสาเหตุที่ตอนนี้ทางการแนะนำให้เด็กอายุ 16-17 ปี เข้ารับวัคซีนได้


แต่การติดโควิดก็ส่งผลต่อสุขภาพเด็กได้เหมือนกัน รวมถึงมีผลต่อหัวใจพวกเขาด้วย คำถามคือความเสี่ยงนั้นมากแค่ไหน แต่ทั้งนี้ก็ไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องผลกระทบของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในระยะยาว

 

สหรัฐอเมริกา ได้เดินหน้าฉีดวัคซีนให้เด็กต่อ โดยตอนนี้ให้วัคซีนเด็กอายุ 12-15 มากกว่า 10 ล้านคนแล้ว โดยมั่นใจว่าความเสี่ยงจากโควิดมากกว่าความเสี่ยงจากอาการข้างเคียงของวัคซีน และฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา อิสราเอล และไอร์แลนด์ ก็ทำตามเหมือนกัน


สำหรับ “ในประเทศไทย” หลังจากมีการซึ่งพบอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดที่คณะผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยเข้าข่ายอาการรุนแรงคือ "กลุ่มเนื้อหัวใจอักเสบ" สำหรับประเทศไทย พบ 1 ราย โดยเด็กชายอายุ 13 ปี มีภาวะโรคอ้วน แต่สามารถเข้ารับการรักษาได้ทัน ปัจจุบัน หายเป็นปกติแล้ว


“นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์” ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า รายงานอุบัติการณ์ของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบประมาณ 16 รายใน 1 ล้านโดสของการฉีด พบในเพศชาย เป็นส่วนใหญ่ อาการพบได้ภายใน 30 วัน หลังได้รับวัคซีนแต่ส่วนใหญ่พบใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน (ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐ)


นอกจากนี้ยังพบ ในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก  ซึ่งพบในเพศชาย (12-17 ปี) มีอัตราการเกิดสูงสุด ในผู้ชายมีอัตราการเกิด 32.4 ต่อ 1 ล้านโดส ผู้หญิง 4.2 ต่อ 1 ล้านโดส กลุ่มรองลงมาที่พบ คือ อายุ 18-24 ปี และจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ไม่มีรายงานในผู้สูงอายุ


การวินิจฉัย ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้า เอกซเรย์ปอด ตรวจเลือดดูโปรตีนของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac troponin) เมื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วสงสัยกล้ามหัวใจอักเสบ แนะนำให้ปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจเพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ

 

การรักษา  แบบประคับประคอง ด้วยการใช้ยา เช่น ยาต้านการอักเสบ (NsAIDs) อัตราการเกิดยาสเตียรอยด์ (Prednisolone) รวมถึงยา Colchicine ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม กรณีมีประวัติ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนฉีดวัคซีนชนิด mRNA

 

4. อยากฉีดวัคซีนชนิดอื่น ได้หรือไม่

 

สำหรับ ส่วนผู้ปกครองที่กังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย ทางกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า ต้องรอการขึ้นทะเบียนปรับการใช้ในเด็กจาก อย.ก่อน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดสรรวัคซีน ซิโนฟาร์ม ในโครงการ “VACC 2 School” นำร่องฉีดวัคซีนบริจาค “ซิโนฟาร์ม” ให้กับเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 10 – 18 ปี เพื่อติดตามศึกษาผลของวัคซีนและการกลับคืนสู่การศึกษาปกติอย่างเป็นระบบ โดยโรงเรียนที่ได้รับการจัดสรร มีทั้งหมด 43 โรงเรียน ทั้งนี้ สามารถเริ่มนัดฉีดวัคซีนให้กลุ่มนักเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน เป็นต้นไป เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนเปิดภาคเรียนใหม่

 

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นความสมัครใจ ดังนั้น ผู้ปกครอง จะต้องการพิจารณาถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนโควิดให้กับเด็กและวัยรุ่นเหมือนกับการพิจารณาในผู้ใหญ่ ต้องดูทั้งประโยชน์ และความเสี่ยง ที่ลูกหลานจะได้รับ

 

รวมทุกข้อสงสัย ฉีดวัคซีน \"ไฟเซอร์\" ในเด็ก 12-17 ปี

 

5. รูปแบบให้บริการฉีดวัคซีนในเด็ก

 

กำหนดให้บริการวัคซีน Pfizer ผ่านสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ในรูปแบบวัคซีนสำหรับนักเรียนในสถานศึกษา (School-based vaccination program) โดยได้ประสานไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) หาก สถานศึกษา มีพื้นที่จำกัด ขอให้ให้มหาวิทยาลัยเป็นฐานในการฉีดให้นักเรียนด้วย โดยสถานที่ฉีด อาทิ

 

  • โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดรัฐบาลและเอกชน
  • สถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
  • โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • โรงเรียนพระปริยัติธรรม กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ
  • สถาบันการศึกษาปอเนาะ
  • สถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่มีนักเรียนวัยเดียวกันกำลังศึกษาอยู่ เช่น โรงเรียนเตรียมทหาร กระทรวงกลาโหม โรงเรียนคนพิการ กระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงเรียนในสังกัด อปท เป็นต้น

 

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ระบุว่า การขยายกลุ่มฉีด 12-17 ปี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานว่า มีโรงเรียนหลายสังกัด ถือว่าเยาวชนทั้งหมดจะอยู่ในการดูแลของ ศธ. โดยรับเป็นเจ้าภาพในการดูแลฉีดกลุ่ม 12-17 ปี และมีการชี้แจง และส่งแบบสำรวจ ทั้งสถานศึกษาได้ทำการสำรวจชี้แจ้งไปยังผู้ปกครอง เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในบุตรหลาน และแสดงความจำนงค์มายังจังหวัด ขอให้สถานศึกษาติดตามนโยบาย ขณะที่ กลุ่มอายุตั้งแต่ 3 ขวบ สธ. โดย อย. ยังไม่รับรองต้องให้บริษัทยื่นเรื่องตามขั้นตอน เพราะต้องดูเรื่องความปลอดภัย

 

6. แผนการฉีดวัคซีน

 

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ กทม.จะบริหารจัดการวัคซีนภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กทม.ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

 

  • ประสานงาน ศธ., ศธจ.หรือหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อเตรียมการดำเนินงานให้วัคซีนนักเรียน

 

  • สำรวจเป้าหมาย จัดทำแผนจัดสรร และกำหนดช่วงเวลาเข้ารับวัคซีน กำหนดสถานบริการฉีดวัคซีนให้กับแต่ละโรงเรียน โดยประสานผู้บริหารโรงเรียนเพื่อนำนักเรียนเข้ารับวัคซีน พร้อมกับกำกับติดตามรายงานผลการให้ให้บริการในระบบ MoPH IC

 

  • นอกจากฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนแล้ว ศธ.ได้ประสานของให้ สธ.เร่งฉีดวัคซีนให้ครูครบทุกคน

 

จากข้อมูลขณะนี้ พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสถานศึกษารัฐ และเอกชน ได้รับวัคซีนไปแล้ว 72% เหลือประมาณ 1.7 แสนคน ที่รอฉีดวัคซีนอยู่ โดยน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.หารือกับกรมควบคุมโรคไปแล้ว โดยขอให้กรมควบคุมโรคจัดสรรการฉีดวัคซีนครูควบคู่กับการฉีดวัคซีนเด็ก

 

7. ไทม์ไลน์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียน ศธ.

 

วันที่ 10-17 กันยายน โรงเรียน/สถานศึกษา จัดเตรียมรายชื่อ และจำนวนนักเรียน โดยระหว่างนั้น ศธ.และ สธ.จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.)และอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) ซักซ้อมความเข้าใจการฉีดวัคซีน และการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง

 

วันที่ 17-22 กันยายน โรงเรียน/สถานศึกษาจัดประชุมทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลกับผู้ปกครองในการฉีดวัคซีนให้เด็ก

 

วันที่ 21-24 กันยายน โรงเรียน/สถานศึกษาเชิญผู้ปกครองลงนามแจ้งความประสงค์ (ยินยอม) ให้นักเรียนเข้ารับวัคซีน และหาก สธ.จัดทำแบบสำรวจ และใบยินยอมบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับนักเรียน/ นักศึกษา ศธ.จะเร่งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้สถานศึกษานำไปให้ผู้ปกครองกรอกต่อไป

 

วันที่ 25 กันยายน โรงเรียน/สถานศึกษา นำส่งบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์แก่ผู้อำนวยการ สพม.หรือ อศจ.แล้วนำส่ง ศธจ.

 

วันที่ 26 กันยายน ศธจ./ ผู้อำนวยการ สพท. / อศจ./ ผู้แทนหน่วยงานการศึกษาในจังหวัดประชุมสรุปจำนวน และรายชื่อนักเรียนเพื่อนำส่งสาธารณสุขจังหวัด

 

วันที่ 28-30 กันยายน สาธารณสุขจังหวัด วางแผนการรับวัคซีน และกำหนดการฉีดวัคซีนรายโรงเรียน

 

วันที่ 1 ตุลาคม โรงเรียน/สถานศึกษา รับทราบกำหนดการ และจัดเตรียมสถานที่

 

วันที่ 4 ตุลาคม เริ่มการฉีดวัคซีนแก่นักเรียน

 

รวมทุกข้อสงสัย ฉีดวัคซีน \"ไฟเซอร์\" ในเด็ก 12-17 ปี

 

อ้างอิง : บีบีซี ไทย , ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กรมควบคุมโรค