เปิดช่องทางฉีดวัคซีน12ปีขึ้นไป "เด็กนอกระบบ"

เปิดช่องทางฉีดวัคซีน12ปีขึ้นไป "เด็กนอกระบบ"

คาด 4 ต.ค. เริ่มฉีดวัคซีนโควิดเด็ก 12 ปีขึ้นไป  ย้ำผู้ปกครองมีสิทธิ์ตัดสินใจให้ลูก เลือกรับไฟเซอร์-รอชนิดเชื้อตาย  เด็กนอกระบบมีสิทธิได้รับวัคซีนด้วย ประสานรพ.ใกล้บ้าน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 17 ก.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปี ขึ้นไปว่า วัคซีนที่ให้บริการจะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ จะเน้นฉีดกลุ่มอายุ 12-17 ปี ที่เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า  ซึ่งจะเปิดเรียนในเดือน พ.ย. โดยมีกลุ่มเป้ามาย 4.5 ล้านคน  
      ขณะนี้อยู่ระหว่างให้สถานศึกษาสำรวจความประสงค์รับหรือไม่รับวัคซีน โดยคาดว่าจะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป   ทั้งนี้ สถานพยาบาลที่ให้บริการจะเป็นรพ.ในพื้นที่ รพ.ใกล้โรงเรียน หรือรพ.ที่โรงเรียนประสานความร่วมมือไว้ทั้งภาครัฐหรือเอกชน  ภายหลังการฉีดจะมีการติดตามอาการข้างเคียงในวันที่ 1 , 7 และ 30 เมื่อฉีดเข็มที่ 1 ครบ 3-4 สัปดาห์เด็กก็จะถูกตามมารับวัคซีนเข็มที่ 2 

           “สถานศึกษาจะต้องประสานไปยังผู้ปกครอง เพื่อให้ทราบแผนงานการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียน โดยต้องมีการให้ข้อมูลข้อดี ข้อเสียของวัคซีนและประโยชน์ที่จะได้รับ ก่อนกรอกข้อมูลแจ้งโรงเรียนว่าสมัครใจยินยอมหรือไม่ยินยอมให้เด็กฉีดวัคซีน โดยระยะแรกวัคซีนที่ให้บริการ เป็นชนิด mRNAของไฟเซอร์ ส่วนระยะถัดไปอาจจะมีวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม หากผู้ปกครองยังไม่อยากให้เด็กฉีดวัคซีน mRNA ก็สามารถรอฉีดวัคซีนเชื้อตายได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลารออีกสักนิด”นพ.โสภณกล่าว  
       นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า วัคซีนชนิด mRNA มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงได้คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งข้อมูลในต่างประเทศที่ฉีดในเด็ก พบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว 16 ราย ต่อการฉีด 1 ล้านโดส ส่วนของประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์มาตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. มีเด็กส่วนหนึ่งที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังได้รับวัคซีนแล้ว
       ขณะนี้ยังมีการเฝ้าระวังอยู่  โดยมีรายงานพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย รักษาอาการดีขึ้นและหายแล้ว  ซึ่งภาวะนี้สามานถรักษาได้ โดยเด็กอาจจะมีอาการหายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก  ใจสั่น เป็นต้น  หากเฝ้าระวัง ติดตามเจอ มารักษา ก็หายเป็นปกติ เหล่านี้ต้องให้ข้อมูลกับผู้ปกครองได้รับทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจจะให้เด็กฉีดวัคซีนหรือไม่ด้วย   

      “การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ลดโอกาสในการติดเชื้ออาการรุนแรง ลดการแพร่กระจายเชื้อสู่สมาชิกในครอบครัว ที่อาจจะไปสู่ผู้สูงอายุในบ้าน อย่างไรก็ตาม ในครอบครัวใดที่มีเด็กอยู่ด้วย แนะนำให้ผู้สูงอายุเข้ามารับการฉีดวัคซีน รวมถึง ผู้ปกครองเด็กด้วย ทั้งนี้ การได้รับหรือไม่ได้รับวัคซีนของเด็ก ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะทำให้เด็กได้ไปหรือไม่ได้ไปโรงเรียน” นพ.โสภณกล่าว  
     นพ.โสณ กล่าวด้วยว่า  กรณีเด็กเรียนนอกระบบ หากประสงค์ต้องการรับวัคซีนก็จะฉีดให้เช่นเดียวกัน โดยกลุ่มนี้ จะมี 2 ส่วน คือ 1.คนที่ไม่ได้เรียน เพราะอาจจะมีโรคประจำตัว หรือมีภาวะบางอย่าง สามารถเข้ารับวัคซีนได้ที่รพ.ที่ใช้บริการประจำ ซึ่งหลายจังหวัดก็ได้เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มนี้แล้ว และ2.เด็กที่ไม่ได้ป่วย หรือ โฮมสคูล หรืออื่นๆ สามารถขอขึ้นทะเบียนรับวัคซีนกับรพ.ใกล้บ้านได้ ส่วนเด็กเร่ร่อนก็จะมีหน่วยงานเข้าไปดูแล ซึ่งในช่วงตั้งแต่เดือนต.ค.-ปลายปี ประเทศไทยมีวัคซีนไฟเซอร์ประมาณ 30 ล้านโดส เพียงพอสำหรับให้เด็กวัย 12-17 ปีที่ต้องการฉีด 
     ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นชนิดเชื้อตายที่จะฉีดให้กับเด็ก12-17 ปีที่ประสงค์รับวัคซีนเชื้อตายแทนรับวัคซีนไฟเซอร์ จะต้องนำเข้าเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า  ผู้ปกครองที่ประสงค์ให้ลูกรับวัคซีนชนิดเชื้อตาย จะต้องรอการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ในการปรับทะเบียนอนุญาตให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ก่อนทั้งของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ซึ่งมีข้อมูลในประเทศจีนมีการฉีดในเด็กไปแล้วกว่า 90 ล้านโดส และการพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการที่จะให้ฉีดวัคซีนเชื้อตายในกลุ่มนี้หรือไม่ ส่วนวัคซีนเชื้อตายที่จะใช้ก็จะมีวัคซีนซิโนแวคล็อตล่าสุดที่มีการสั่งซื้อ 12 ล้านโดส ซึ่งจะเข้ามาช่วงก.ย.-ต.ค. โดยหากพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมาย 4.5 ล้านคน และคาดว่าจะประสงค์ฉีดวัคซีนเชื้อตายราว 50 % ก็จะใช้วัคซีนราว 1-2 ล้านโดส วัคซีนก็มีความพร้อม