"ผบ.ตร." เปิด 15 พื้นที่นำร่องป้องอาชญากรรมแก่ประชาชน เน้นโซนเศรษฐกิจ
"พล.ต.อ.สุวัฒน์" เปิดโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 นำร่องป้องกันอาชญากรรม 15 พื้นที่ทั่วประเทศ เน้นแหล่งเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ประชาชนกลัวภัยอาชญากรรม
21 ก.ย. 2564 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.เป็นประธานพิธีเปิดโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 (Smart Safety Zone 4.0) พร้อม พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ.9) และเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผ่านระบบออนไลน์
โดยโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ขับเคลื่อนบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และตัวชี้วัดสากล “WORLD INTERNAL SECURITY and POLICE INDEX : WISPI” เป็นการใช้การป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกนำการปราบปราม ในการนี้ ผบ.ตร.ได้มอบหมาย ให้ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร , พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้ช่วย ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ.9) เป็นคณะทำงาน
ซึ่งได้คัดเลือกสถานีตำรวจนำร่องทั่วประเทศจำนวน 15 สถานี ประกอบด้วย สน.ลุมพินี , สน.ห้วยขวาง , สน.ภาษีเจริญ , สภ.ปากเกร็ด , สภ.เมืองสมุทรปราการ , สภ.เมืองพัทยา , สภ.เมืองระยอง , สภ.เมืองปราจีนบุรี , สภ.ปากช่อง , สภ.เมืองอุดรธานี , สภ.เมืองเชียงใหม่ , สภ.เมืองพิษณุโลก , สภ.เมืองราชบุรี , สภ.เมืองภูเก็ต และ สภ.หาดใหญ่
โดยคัดเลือกพื้นที่ที่เป็นแลนด์มาร์ค แหล่งเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ประชาชนมีความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมมาสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัย ในชุมชน
ทั้งนี้ คณะทำงานได้นำผลสำรวจพีเพิลโพล (People Poll) และข้อเสนอแนะจากประชาชน มาพัฒนาการดำเนินโครงการ เพื่อสามารถปรับปรุงการทำงานของตำรวจให้ตรงกับสภาพปัญหา และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
1.สำรวจกล้อง CCTV ในพื้นที่ ปรับมุมกล้อง และบูรณาการการใช้งานกล้องร่วมกันพร้อมติดตั้งเพิ่มเติม
2.นำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม เช่น มีการติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับใบหน้า และกล้อง AI ตรวจจับป้ายทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น
3.ติดตั้งเสาสัญญาณ SOS เพื่อประชาชนสามารถแจ้งเหตุด่วนได้ทันที
4.จัดทำห้องปฏิบัติการ CCOC โดยเชื่อมสัญญาณจากกล้องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานราชการ และเอกชนมายังห้องปฏิบัติการและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อคอยควบคุมสั่งการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
5.ใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร เช่น POLICE 4.0 , POLICE I LERT U , Line OA , แจ้งความออนไลน์ รวมถึงการสร้าง Cyber Village เป็นต้น
6.ร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น ตัดแต่งต้นไม้กิ่งไม้ในพื้นที่รกร้าง ขีดสี ตีเส้น ทำความสะอาดพื้นที่ ติดไฟส่องสว่าง เป็นต้น
7.แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการช่วยป้องกันอาชญากรรม
โครงการ สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ช่วงระยะแรกใน 15 สถานีนำร่อง ได้ดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการสนับสนุนของทุกภาคส่วนที่ช่วยกันสร้างมิติใหม่แห่งความปลอดภัย “เปลี่ยนที่เปลี่ยวให้เป็นที่ปลอด(อาชญากรรม) ตามแนวทาง Smart City” เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัย ในชุมชน ซึ่ง ในระยะที่สอง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีนโยบายให้ขยายโครงการเข้าสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยคัดเลือก 1 พื้นที่ 1 จังหวัด และมอบหมายให้ 15 สถานีนำร่องเป็นสถานีต้นแบบในพื้นที่ของตนเองในการขับเคลื่อนโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ให้เกิดขึ้นทั่วทุกจังหวัดต่อไป