“บีโอไอ-อว.”ดันแพลตฟอร์ม ผลิตคน“วิศวะ-วิทยาศาสตร์” ป้อนเอกชน

“บีโอไอ-อว.”ดันแพลตฟอร์ม  ผลิตคน“วิศวะ-วิทยาศาสตร์” ป้อนเอกชน

บีโอไอผนึก กระทรวง อว.ดันแพลตฟอร์ม ผลิตแรงงานตามความต้องการตลาด เน้นสาขาวิศวะ วิทยาศาสตร์ รับการเติบโตในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี สร้างความสามารถการแข่งขัน

ถึงแม้ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาจะผลิตกำลังคนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพได้ แต่บางส่วนยังไม่ตรงความต้องการของภาคเอกชน ทำให้หน่วงานที่รับผิดชอบผลิตบุคลากรและหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการลงทุนจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการผลิตบุคลากรให้ตรงความต้องการ โดยเฉพาะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนสำหรับอนาคตจำเป็นต้องผลักดันหลายส่วน รวมถึงประเด็นการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรจะต้องรองรับโลกใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะที่แรงงานระดับอาชีวศึกษาจะต้องเป็น “อาชีวะไฮเทค” ซึ่งที่ผ่านมาบีโอไอทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเตรียมผลิตวิศวกร 20,000 คน และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อ Reskill และ Upskill และมีมาตรการดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาทำงาน

รายงานข่าวจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เตรียมแผนเสริมศักยภาพและเพิ่มจำนวนบุคลากรให้สอดคล้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยสถานประกอบการที่ได้รับเสริมการลงทุนจากบีโอไอระบุความต้องการแรงงาน ร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา เช่น สภาคณบดีวิทยาศาสตร์ สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาทักษะสำหรับนักศึกษาปีที่ 3-4 บัณฑิตจบใหม่และกำลังคนนอกระบบการศึกษา 

สำหรับการดำเนินการเพื่อพัฒนามี 3 แนวทาง คือ 1.Reskill และ Upskill 2.สถานประกอบการร่วมจัดการศึกษา 3.จัดตั้ง Industrial Training Center (ITC) โดยรัฐและสถานประกอบการที่มีความพร้อม เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะตรงความต้องการภาคอุตสาหกรรม โดยมีสิทธิประโยชน์ในการพัฒนาทักษะบุคลากร คือ 

1.สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งบุคลากรเข้ารับการอบรม 2.5 เท่า 2.เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในกาฝึกอบรมบุคลากร 50% ไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี ซ่ึงน้อยกว่าหรือเท่ากับคนละ 100,000 บาท 

3.สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการรับนักศึกษาฝึกปฏิบัติงาน 4.สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการร่วมลงทุนจัดตั้ง ITC

สำหรับแนวโน้มการวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการแรงงานเพื่อสนับสนุนการลงทุนในไทย โดยมีเป้าหมายเพิ่มการลงทุนในประเทศ 10% ต่อปี (2565-2570) ซึ่งเพิ่มมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนเป็น 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 เพิ่มการจ้างงาน 125,800 อัตรา (ปริญญาตรีขึ้นไป 17% เท่ากับ 21,400 อัตรา) 

 

นอกจากนี้ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานของ “แพลตฟอร์ม” เพื่อพัฒนากำลังคน ประกอบด้วยการร่วมดำเนินการผ่าน Consortium ของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อฝึกอบรมและร่วมผลิต โดยมีข้อมูลนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เป็นฐานข้อมูลนำมาวิเคราะห์ คือ สาขาวิชา จำนวนและระบุสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตแต่ละสาขา และจะจับคู่ความต้องการเสริมศักยภาพบุคลากร ความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรการศึกษา การสนับสนุนการฝึกปฏิบัติงานและการจ้างงานผู้ได้รับการพัฒนาทักษะ ซึ่งจะระบุความต้องการของนักลงทุนที่ครอบคลุมข้อมูลสาขา ทักษะและจำนวน

ในขณะที่ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไป ในปี 2570 ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปรวม 42,000 คน แบ่งเป็นด้านวิศวกรรม 17,000 อัตรา การเกษตร 450 อัตรา บริหารธุรกิจ 17,000 อัตรา และวิทยาศาสตร์ 7,700 อัตรา

ส่วนแนวโน้มความต้องการแรงงานในภาพรวมสายอาชีวศึกษาในปี 2570 ความต้องการแรงงานรวม 79,000 คน แบ่งเป็น ช่างกลอุตสาหกรรม 63,500 อัตรา การเกษตร 1,500 อัตรา และบริหารธุรกิจ 14,000 อัตรา 

นอกจากนี้สถานการณ์ความต้องการแรงงาน “สาขาวิทยาศาสตร์” พบความต้องการปีละ 3,885 อัตรา ในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ และสาขาที่มีความต้องการหลักเทคโนโลยีการผลิต วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ พยาบาลศาสตร์ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ เคมี เทคโนโลยีอาหารและวิทยาศาสตร์ทั่วไป

ความต้องการแรงงานสาขา “วิศวกรรม” จากประมาณการณ์ในการจ้างงานปีละ 8,306 อัตรา ในโครงารที่ได้รับการส่งเสริมโดยบีโอไอ แบ่งเป็นสาขาเครื่องกลมีความต้องการมากที่สุด มีสัดส่วน 17% รองลงมาเป็นสาขาไฟฟ้าต้องการ 15% สาขาคอมพิวเตอร์ 14% สาขาวิศวกรรมการผลิต 9% และสาขาเหมืองแร่และธรณีวิทยา 6%

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประชุมเตรียมกำลังคนรองรับการลงทุนทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศร่วมกับบีโอไอ สภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยตั้งเป้าการผลิตกำลังคนวิศวกรรมศาสตร์ 10,000 คน และวิทยาศาสตร์ 10,000 คน รวม 20,000 คนต่อปี ที่มีคุณสมบัติและทักษะเฉพาะตอบสนองการลงทุนภาคเอกชนตามความต้องการผ่านบีโอไอ 

กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะตั้งศูนย์ประสานข้อมูลและกลไกพัฒนากำลังคน โดยจะลงนามความร่วมมือกับสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และบีโอไอ รวมทั้งทำแพลตฟอร์มการอุดมศึกษาแบบพิเศษ ผ่านกระบวนการแซนด์บอกซ์ โดยหลักสูตรอาจต่างจากปัจจุบัน เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

เอนก กล่าวว่า ได้หารือกับบีโอไอมาตลอดพบว่ามีความต้องการจากภาคเอกชนในหลายเรื่องที่ยังตอบสนองไม่ได้ แม้ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาจะผลิตกำลังคนสาขาวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพได้ แต่อาจไม่ตรงความต้องการนักลงทุน ดังนั้น กระบวนการแซนด์บอกซ์จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและจะต้องเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงกับภาคเอกชน เช่น ให้เรียนจบภายใน 3 ปี หรือ เรียนในสถานประกอบการโดยมีพนักงานของสถานประกอบการเป็นอาจารย์ร่วมสอนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย