เช็คอาการ "อัลไซเมอร์" ขี้ลืมขนาดไหน ? ถึงต้องไปพบแพทย์

เช็คอาการ "อัลไซเมอร์" ขี้ลืมขนาดไหน ? ถึงต้องไปพบแพทย์

21 กันยายน เป็นวัน "อัลไซเมอร์" ตามที่องค์การอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ Alzheimer’s Disease International ได้ประกาศไว้ เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญและเข้าใจในโรคนี้มากขึ้น

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคอัลไซเมอร์โดยตรง การป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมจึงมีความจำเป็นอย่างมาก

“โรคอัลไซเมอร์” พบมากถึง70-80% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด เกิดจากเซลล์ในสมองตาย หรือไม่ทำงาน ทำให้สมองส่วนที่เหลือทำงานได้ไม่เต็มที่ และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จะเกิดภาวะสมองเสื่อมรุนแรงขึ้น จนในที่สุดผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้

โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ

การสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม

 

 

  • อัลไซเมอร์ VS ภาวะสมองเสื่อม 

อัลไซเมอร์กับภาวะสมองเสื่อม มีความแตกต่างกัน ซึ่งการเข้าใจความแตกต่างจะช่วยให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจการวินิจฉัยของแพทย์ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ภาวะสมองเสื่อมหมายถึง กลุ่มอาการผิดปกติที่เป็นผลมาจากการเสื่อมของสมองหลายส่วนซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามสาเหตุ ได้แก่

1. ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาให้หายขาดได้ พบประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด โดยสาเหตุมักเกิดจากโรคทางกาย เช่น หลอดเลือดสมองตีบตัน เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมองบางชนิด การขาดวิตามินบี12 และโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

2. ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาด พบมากถึงร้อยละ 80 ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม และมีโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุถึงร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือเป็นโรคที่ทำให้สมองเสื่อมคล้ายอัลไซเมอร์อีก 5-6 โรค 

ดังนั้น อัลไซเมอร์จึงเป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด

  • เช็คอาการของโรคอัลไซเมอร์

ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านความจำเป็นอาการหลัก ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ จึงมักจะลืมว่าวางของไว้ที่ไหนทั้งที่พยายามจำ ถามซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ เป็นต้น

เมื่อโรคดำเนินไปจะทำให้เกิดความบกพร่องของการรู้คิดด้านอื่นร่วมด้วย เช่น หลงทาง คิดเลขไม่ได้ ไม่สามารถจัดการกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานได้เอง มีปัญหาด้านอารมณ์ ปัญหาพฤติกรรม และความผิดปกติทางจิตตามมา เช่น หงุดหงิด เฉื่อยชาและเฉยเมย ขาดการยับยั้งชั่งใจ มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน เป็นต้น

 

  • เมื่อหลงลืม ควรไปพบแพทย์หรือไม่?

ปัญหาด้านความจำที่เกิดขึ้นหรืออาการหลงลืมนั้น ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการจัดการชีวิตประจำวัน เช่น ทำได้ช้าลง ทำผิดบ่อยขึ้น หรืออาการหลงลืมนั้นส่งผลให้เกิดปัญหาในการจัดการชีวิตประจำวันด้วยตนเอง เช่น ต้องการผู้ช่วยเหลือในการจ่ายเงิน ต้องการผู้ช่วยเหลือในการบริหารยาที่ทานประจำ เป็นต้น

  • ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์

อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด โดยพบว่าหลังอายุ 65 ปี ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มเป็น 2 เท่าในทุก ๆ 5 ปีที่อายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีด้วยเช่นกัน

พันธุกรรม เช่น มีญาติสายตรงในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคนี้หลายคน , มียีนบางอย่างเช่น ApoE4 เป็นต้น

โรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ผู้ป่วยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีความผิดปกติของการสะสมของโปรตีนบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เช่นกัน

การได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ มีรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยาหลายรายงานพบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่น ๆ มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมากกว่าคนที่ไม่มีสมองเสื่อม อย่างไรก็ตามในบางการศึกษาไม่พบว่าการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม

โรคอัลไซเมอร์มีส่วนที่เกิดจากโรคของหลอดเลือด รวมถึงพบร่วมกับโรคหลอดเลือดในสมองได้บ่อย ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ด้วย ดังนี้ น้ำหนักเกินมาตรฐาน การขาดการออกกำลังกาย  การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง  และโรคเบาหวาน

  • วิธีการป้องกัน "โรคอัลไซเมอร์" 

มีการรับรองโดยองค์การอนามัยโลกคือ การออกกำลังกาย การเสริมสร้างและบริหารสมอง การทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสไม่ซึมเศร้า รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุราและยาเสพติด และยังคงติดต่อปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเสมอ โดยเฉพาะในวัยเกษียณ ยังไม่มีรายงานอาหารเสริมที่จะได้ประโยชน์ในการป้องกันความจำเสื่อม จึงยังไม่มีคำแนะนำให้ซื้อหามารับประทาน

การรักษา หากเริ่มรู้สึกว่าตัวเองหลงลืมบ่อย อย่าลืมสำรวจตนเองว่าช่วงนี้วางแผนการทำงานดีหรือไม่ มีความเครียดหรือไม่ พักผ่อนเพียงพอหรือไม่ สติและสมาธิครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้เราหลงลืมได้ เช่น ลืมกุญแจ ลืมโทรศัพท์ เป็นต้น

แต่หากเราสังเกตเห็นคนในครอบครัว ถามแล้วถามอีก ถามซ้ำ ๆ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าถามไปแล้ว หรือเราบอกไปแล้ว อันนี้เข้าข่ายอาการของโรคความจำเสื่อม ซึ่งเจ้าตัวมักจะไม่รู้ตัว ควรต้องรีบไปรับการตรวจวินิจฉัย เพราะหากพบสาเหตุที่รักษาได้ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความจำเสื่อมถาวร

ในผู้ป่วยสมองเสื่อม ที่ตรวจหาสาเหตุแล้วพบว่าเป็นอัลไซเมอร์ ปัจจุบันมียาชนิดรับประทาน เพื่อช่วยชะลอความเสื่อม ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นได้ ซึ่งต้องเข้ารับการตรวจรักษาและสั่งยาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคสมองและระบบประสาท

การฟื้นฟู โดยเฉพาะความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะจะเป็นตัวชี้บ่งคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ หากสามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ลดลงหรือโอกาสในการมีชีวิตยืนยาวก็จะลดลงด้วย การฝึกสอนโดยอาศัยกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน การฝึกให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง การเอาใจใส่ดูแลทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจของผู้สูงอายุ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

อ้างอิง : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ , โรงพยาบาลสมิติเวช , โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ,สถาบันประสาทวิทยา