“อาคม”เผยรัฐเตรียมออกมาตรการช่วยเอสเอ็มอีวงเงินกว่าแสนล้าน

“อาคม”เผยรัฐเตรียมออกมาตรการช่วยเอสเอ็มอีวงเงินกว่าแสนล้าน

“อาคม”ระบุ รัฐบาลออกมาตรการดูแลเอสเอ็มอีต่อเนื่อง ล่าสุดครม.เห็นชอบในหลักการช่วยเหลือเพิ่มเติมในวงเงินกว่า 1 แสนล้าน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของมาตรการ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ได้เสนอกรอบดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในหลักการ  โดยกรอบที่เสนอในระยะแรกมีวงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท ส่วนจะนำมาใช้ในมาตรการใดอย่างไรนั้นจะมีรายละเอียดออกมาอีกครั้ง

"แม้กระทรวงแรงงานจะรายงานว่า ตัวเลขคนออกจากงานแล้วเข้างานใหม่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่ยังมีแรงงานบางส่วนที่เรายังไม่รู้ว่าออกจากงานไปแล้วกลับเข้ามาสู่ระบบการจ้างงานหรือประกันสังคมหรือไม่ จะสังเกตได้ว่าคนที่ออกจากงานบางส่วนกลับภูมิลำเนา เพื่อรอโรงงาน ร้านอาหารกลับมาเปิด บางส่วนเปลี่ยนใจอยู่บ้าน รอฝึกอาชีพ และสร้างอาชีพใหม่ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากโดยเน้นไปที่ภาคชนบท"

อย่างไรก็ตาม 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานผ่านระบบประกันสังคม มาตรา 33, 39, และ40 รวมทั้ง ยังมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลให้เงินไปเลย โดยใช้หลักเกณฑ์ตามจำนวนของลูกจ้าง รายละ 3,000 บาท แต่ไม่เกิน 200 คน ดังนั้น เอสเอ็มอี 1 ราย หากมีลูกจ้างจำนวน 200 คน จะได้รับเงินช่วยเหลือกว่า 600,000 บาท ซึ่งเป็นการเติมสภาพคล่องในช่วงที่ปิดกิจการ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางด้านการเงิน ทั้งด้านสินเชื่อ และการพักชำระหนี้ โดยสถาบันการเงินทุกแห่งพร้อมให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ ทั้งการพักชำระหนี้ และการยืดเวลาการชำระหนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย

“ยังมีการเติมสภาพคล่อง เช่น ธนาคารออมสิน ที่ขาดสภาพคล่องก็สามารถนำที่ดินมาใช้กู้เงินได้  เอสเอ็มอีแบงก์ ที่รับเงินจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) มาปล่อยสินเชื่อ  เป็นต้น ส่วนเอสเอ็มอีที่ยังขาดความรู้ ก็จะเข้าไปแนะนำด้านเทคนิคการตลาด การผลิต และการวิจัยพัฒนาธุรกิจ”

ขณะที่ เอสเอ็มอีที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เนื่องจาก เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มาก่อน และอาจจะมีบัญชีหลายแบงก์ ก็จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้อย่างสภาหอการค้าก็มีมาตรการที่ดูแล เช่น พี่ช่วยน้อง ในการรับสินค้าเข้ามาขายในห้างสรรพสินค้า หรือการให้เครดิตเทอมที่ยาวขึ้น สำหรับผู้ผลิตที่ส่งของมาให้ในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

"เอสเอ็มอีของไทยมีกว่า 3 ล้านราย แต่ที่เข้ามาอยู่ในระบบไม่มาก ปัญหาส่วนหนึ่งคือมีหนี้สินหลายแบงก์ และธุรกิจไม่ได้ประสบความสำเร็จมาก่อน อาจจะไม่ได้เข้าเงื่อนไขของแบงก์ ส่วนโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ผู้จบการศึกษาใหม่ หรือ โค-เพย์เมนต์ ที่ช่วยเหลือการจ้างงานคนละครึ่งนั้น คณะกรรมการใช้จ่ายเงินกู้ได้เสนอกรอบเรื่องการจ้างงานให้ครม. พิจารณาแล้ว ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรต้องรอติดตาม ซึ่งมาตรการนี้นับเป็นมาตรการที่สำคัญในการช่วยรักษาการจ้างงาน"