เช็ค 10 ข้อปฏิบัติ "ผู้ติดเชื้อโควิด" หายป่วยแล้ว-พักฟื้นที่บ้าน
ขอปฏิบัติสำหรับบุคคลในครอบครัว และผู้ที่หายจาก "โรคโควิด-19" แล้วกลับมารักษาตัวที่บ้าน ต้องป้องกัน เฝ้าระวัง และสังเกตอาการต่อไป
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ที่มียอดลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย.เป็นต้นมา เป็นดัชนีชี้วัดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่เริ่มชะลอตัว จากมาตรการเข้มงวดตั้งแต่เดือน ส.ค. จนถึงความคืบหน้าการ "ฉีดวัคซีน" ให้ประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ ในกลุ่ม 2 เข็มขณะนี้ที่มีมากกว่า 3.6 ล้านราย
ถึงแม้ตัวเลขกลุ่ม "หายป่วย" ในกรุงเทพฯ ล่าสุดมียอดรวมสะสมไม่ต่ำกว่า 3.6 แสนคน แต่ถือเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อต่อไป โดยเฉพาะภาวะผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวหายแล้ว หากกลับไปรักษาตัวที่บ้านยังต้องสังเกตอาการอีก 1 เดือนหรือ 4 สัปดาห์ ก่อนที่อาการจะเริ่มลดลงและเป็นปกติ
ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มที่เรียกว่า "Long Covid" จะเป็นกลุ่มที่มีอาการต่อเนื่องมากกว่า 1 เดือน ประมาณ 4-12 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มเสี่ยงผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้สูงอายุ โดยมีอาการที่เกิดขึ้น อาทิ รู้สึกเหมือนยังมีไข้ มีวิตกกังวล เหนื่อย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ปวดข้อ หรือการพักผ่อนได้ไม่เต็มที่
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ระบุว่า ในประเทศอังกฤษมีการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย 186,000 รายพบว่าจำนวน 1 ใน 5 จะมีอาการโรคโควิดต่อเนื่องไปถึง 12 สัปดาห์
สำหรับข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว แต่กลับไปพักฟื้นที่บ้าน "ศูนย์ข้อมูลข่าวสารความรอบรู้ด้านสุขภาพ" สำนักการแพทย์ (MSD Information Literacy Center : MIL Center) กทม. ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้
1.สังเกตอาการอยู่บ้านอย่างน้อย 10-14 วัน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ให้สะอาด และเว้นระยะห่าง ระหว่างบุคคล
2.ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ วันละ 2- 2 ลิตรครึ่ง ผู้สูงอายุดื่มน้ำประมาณ 1-2 ลิตร
3.รับประทานอาหารที่สุก สะอาด และมีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ เน้นอาหารย่อยง่าย
4.พักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนให้เร็ว
5.อย่าใช้สายตามากจนเกินไป พักสายตาจากโทรศัพท์มือถือหน้าจอคอมพิวตอร์หรือโทรทัศน์ ให้สายตาได้พัก
6.ล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากถ่าย ปัสสาวะ หรืออุจจาระหรือ ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
7.ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร และแก้วน้ำ หรือของใช้อื่นๆ ร่วมกับ
8.ควรออกไปโดนแดดบ้าง เช่น แดดอ่อนๆ ตอนช้าหรือตอนเย็นประมาณ 10-15 นาที
9.ออกกำลังกายเบาๆ ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวตามความเหมาะสม เพื่อช่วยการไหลเวียนของเลือด
10.เมื่อกลับไปทำงาน ให้เน้นมาตรการป้องกันตัวเช่นเดิม และงดเว้นการรับประทานอาหารร่วมกัน
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังมีข้อแนะนำระหว่างที่ "ผู้ป่วยโควิด" พักฟื้นอยู่ที่บ้าน ขอให้สังเกตตัวเองหากพบว่ามีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ อาทิ ไอมาก มีไข้สูง เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ซึ่งเป็นอาการที่มาจากหลายสาเหตุไม่ใช่เฉพาะโควิด-19 เท่านั้น แต่หากมีอาการดังกล่าวขอให้ติดต่อกลับไปที่สถานรักษาพยาบาลที่เคยรักษา หรือโทรปรึกษา "สายด่วนกรมควบคุมโรค" ที่เบอร์ 1422
ไม่ใช่แค่นั้นแต่ "กรมควบคุมโรค" ยังออกข้อปฏิบัติสำคัญเพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยุติ มีดังนี้
1.สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่างทางสังคม
2.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ถูมือให้ทั่วถึง ก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังเข้าห้องน้ำ ห้องส้วม หรือหยิบจับสิ่งของต่างๆ
3.ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
4.ดื่มน้ำสะอาดมากๆ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง แต่หากมีอาการท้องเสียหรืออาเจียนให้ งด อาหารย่อยยากและอาหารประเภทนมหรือผลไม้สด
5.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หรือยาเสพติดทุกชนิดเพื่อลดการทำลายอวัยวะภายใน ทำให้สุขภาพอ่อนแอลงได้
ทั้งหมดเป็นข้อคำแนะนำและขอปฏิบัติสำหรับบุคคลในครอบครัว และผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 แล้วกลับมารักษาตัวที่บ้านต้องป้องกันเฝ้าระวัง และสังเกตอาการต่อไป เพื่อพักฟื้นและรักษาร่างกายให้กลับมาแข็งแรงโดยเร็วที่สุด.