"ไฟเซอร์" เริ่มทดลองยาเม็ดรักษาโควิด-19 ระยะที่ 3
ไฟเซอร์ บริษัทยาสัญชาติอเมริกัน กำลังเริ่มการทดลองทางคลีนิคขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนายารับประทาน เพื่อป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ที่เคยสัมผัสผู้ป่วยตามอาการ
ไฟเซอร์ อิงค์ เวชภัณฑ์ระดับโลก เริ่มการทดลองในระยะสุดท้ายของยาเม็ดชนิดรับประทาน เพื่อป้องกันโควิด-19 ที่มีชื่อว่า "PF-07321332" ซึ่งเป็นการทดสอบกับผู้ที่เคยสัมผัสผู้ป่วยตามอาการ
ยาตัวนี้ เป็นยาต้านไวรัส ในรูปแบบ "protease inhibitor" หรือ ตัวยับยั้ง "เอ็นไซม์โพรทีส" ที่ป้องกันไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนขึ้นภายในเซลล์ และมีประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วย HIV และโรคตับอักเสบ C ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสตัวอื่นได้
ในการทดสอบครั้งล่าสุดกับอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับคนที่มีอาการติดเชื้อโควิด-19 โดยครึ่งหนึ่งได้รับยาจริงและอีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก โดยทุกคนจะต้องกินยาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน หรือ 10 วัน เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ทำการประเมินว่า ยามีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อหรือไม่ และผู้รับยามีอาการในระยะ 14 วัน หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อหรือไม่
ไฟเซอร์ ซึ่งพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับ ไบออนเทค ของเยอรมนี และได้รับอนุญาตเป็นรายแรกในสหรัฐ แถลงก่อนหน้านี้ว่า PF-07321332 ได้แสดงให้เห็นศักยภาพในการต้านไวรัสให้ห้องปฏิบัติการทดลอง แต่ก็ถือว่ายังตามหลังคู่แข่งสัญชาติเดียวกันอย่าง เมิร์คที่จับมือกับบริดจ์แบ็ค ไบโอ และโรช โฮลดิ้ง กับเอที ฟาร์มาซูติคัลส์
อย่างไรก็ตาม ยาเม็ดของไฟเซอร์ น่าจะเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากยา "เรมเดซิเวียร์" (Remdesivir) ของ "กิลเลียด ไซแอนเซส" (Gilead Sciences) ที่เป็นยาต้านไวรัสชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองให้ใช้รักษาโรคโควิด-19 ในสหรัฐ