เช็คที่นี่ ดีเดย์ 1 ต.ค. นี้ "ศบค." ปรับมาตรการ อะไรบ้าง
หลังจาก "ที่ประชุม ศบค." ได้พิจารณา "ปรับมาตรการ" ในสถานการณ์โควิด-19 โดยเริ่มวันที่ 1 - 15 ต.ค. นี้ ลองมาเช็คกันว่า จาก 5 "ข้อกำหนด" ที่ "ศบค." ได้ออกมา จะมีอะไรบ้าง เพื่อให้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง
วันนี้ (29 ก.ย. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึง ข้อสรุปจาก ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 34 นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้ลงนามแล้ว รอประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ 1 ต.ค. 64 เป็นต้นไป ระยะเวลา 1-15 ต.ค. 64
"อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1-10 ต.ค. 64 ขอให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ศึกษาข้อกำหนดและร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และประมาณวันที่ 11 ต.ค. 64 ศปก.ศบค. เริ่มพิจารณา หากเป็นไปในทิศทางที่ดี จะเริ่มมีการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นแน่นอน"
ข้อ 1 คงระดับสีพื้นที่ควบคุม
ให้การกำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุมตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 11/2564 ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ยังคงบังคับใช้ต่อไป
ข้อ 2 เคอร์ฟิว 4 ทุ่ม - ตี 4
ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564 โดยให้การกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และกรณีของบุคคล ที่ได้รับยกเว้น ที่ได้ประกาศหรือได้อนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ยังคงใช้บังคับต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง - "ศบค." ลดเวลา "เคอร์ฟิว" ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน
ข้อ 3 เข้มงวดกิจกรรมเสี่ยง WFH การเดินทาง
ให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า ได้แก่
- การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
- การใช้เส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางข้ามจังหวัด
- การขนส่งสาธารณะและการปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำการ (Work from Home) ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและเอกชนยังคงให้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถที่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติได้
- รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบได้กำหนดขึ้นเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องไป จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564
ข้อ 4 เข้มมาตรการกิจการกิจกรรมที่เปิดดำเนินการ
ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี กำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้ปรับมาตรการตามข้อกำหนดนี้ เพื่อให้เปิดดำเนินการได้
- โดยให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ จัดเตรียมสถานที่
- การตรวจสอบระบบหมุนเวียนระบายอากาศ
- การกำกับดูแลความพร้อมของบุคลากร ผู้ให้บริการ
- และปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคต่างๆ ตามที่ทางราชการกำหนด
- รวมทั้งมาตรการที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง - รวมครบ! ศบค. คลายล็อกล่าสุด 10 กิจการ/กิจกรรม อะไรเปิดได้-ไม่ได้ มีอะไรบ้าง
(1) โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท
ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ ร่วมกับ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี
พิจารณาความจำเป็น และการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
(2) สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานที่ให้การดูแล หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่เป็นการจัดสวัสดิการให้แก่เด็ก
ให้เปิดดำเนินการได้ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุญาตการใช้สถานที่ตามความเหมาะสมของสถานที่นั้นๆ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
(3) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม
- สามารถเปิดให้บริการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มี แอลกอฮอล์ในร้าน และจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน
- หากเป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศ ให้มีจำนวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติ
- แต่หากเป็นการบริโภคในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีจำนวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ 75ของจำนวนที่นั่งปกติ
- การแสดงดนตรีในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถทำได้โดยมีผู้แสดงไม่เกินจำนวน 5 คน
- ต้องมีการเว้นระยะห่างและงดการติดต่อสัมผัสกับผู้ใช้บริการ และให้นักดนตรีสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา โดยอนุโลมให้เฉพาะนักร้องและนักดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีประเภทเป่าที่อาจถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้ขณะทำการแสดง
- มาตรการนี้ให้ใช้บังคับมาตรการนี้กับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย
(4) ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือตลาดนัด
เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคหรือบริโภค ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติจนถึงเวลา 21.00 น. โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อที่ตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดการให้บริการในระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
(5) ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ทุกประเภท บ้านหนังสือ หอศิลป์ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
สามารถเปิดดำเนินการได้ และจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ โดยอาจพิจารณาตามเกณฑ์ของขนาดพื้นที่ตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนผู้เข้าใช้บริการที่สามารถรองรับได้ตามปกติ และให้ผู้ใช้บริการงดบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มขณะเข้าชมหรือใช้บริการรวมทั้ง งดการทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความแออัด โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
(6) โรงภาพยนตร์
สามารถเปิดดำเนินการได้ ไม่เกินเวลา 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนความจุที่นั่งและจัดที่นั่งให้มีการเว้นระยะห่าง โดยการเว้นที่นั่งตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยให้ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และงดการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในระหว่างการชมภาพยนตร์
(7) สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ร้านทำเล็บ และร้านสัก
สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการผ่านการนัดหมายได้ จนถึงเวลา 21.00 น. โดยกำหนดเงื่อนไขสำหรับร้านสักที่จะให้บริการได้เฉพาะผู้รับบริการที่แสดงหลักฐานว่าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT-PCR หรือ ชุดตรวจ ATK
(8) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย
สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการผ่านการนัดหมายได้ โดยจำกัดเวลาการให้บริการไม่เกินรายละ 2 ชั่วโมงจนถึง เวลา 21.00 น. และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
ยกเว้นการอบตัว อบสมุนไพร และการอบไอน้ำ ที่ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการ
โดยกำหนดเงื่อนไขเฉพาะการให้บริการประเภทการใช้น้ำเพื่อสุขภาพในกิจการสปา ที่ผู้เข้ารับบริการต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT-PCR หรือโดยการใช้ชุดตรวจ ATK
(9) สถานที่ออกกำลังกาย
- สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำ เพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ำสาธารณะ สถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง สถานกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 น.
- สถานที่ออกกำลังกาย ยิมหรือฟิตเนสที่เป็นห้องปรับ อากาศ ให้เปิดได้ไม่เกิน เวลา 21.00 น. และงดเว้นการให้บริการอบตัวหรืออบไอน้ำ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
(10) การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา
- ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
- กรณีการจัดแข่งขันประเภทกีฬากลางแจ้ง สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามไม่เกินร้อยละ 25 ของความจุสนามและผู้เข้าชมในสนามต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ใน ระยะเวลา 72 ชั่วโมง ก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT-PCR หรือโดยการใช้ชุดตรวจ ATK
- กรณีประเภทกีฬาในร่ม สามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนามและต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
- สำหรับการใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติ ให้เข้าใช้สถานที่ได้ โดยไม่มีผู้ชมในสนาม และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(11) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 น. เว้นแต่กิจการหรือกิจกรรมบางประเภทดังต่อไปนี้ที่ยังคงกำหนดเงื่อนไขควบคุมการให้บริการ หรือให้ปิดการดำเนินการไว้ก่อน
- โรงเรียนและสถาบันกวดวิชา : สามารถเปิดดำเนินการได้ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี พิจารณาอนุญาตการใช้สถานที่เพื่อความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่ รับผิดชอบโดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
-
โรงภาพยนตร์ : สามารถเปีดดำเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน (6)
-
คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ร้านทำเล็บ ร้านสัก : สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้ผ่านการนัดหมายและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน (7)
-
ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม : ให้เปิดดำเนินการผ่านการนัดหมายและจำกัดเวลาการให้บริการไม่เกินรายละ 2 ชั่วโมง ตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า
-
สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย : สามารถเปิดดำเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน (8)
-
สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส : ให้เปิดดำเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน (9) และ (10)
-
สวนสนุก สวนน้ำ ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม การจัดเลี้ยงหรือการจัดประชุม : ยังคงให้ปิดการดำเนินการในช่วงเวลานี้ไว้ก่อน
(12) การถ่ายทำภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือการถ่ายทำสื่อในลักษณะคล้ายกัน
สามารถทำได้ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการและแนวปฏิบัติตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า
- กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการถ่ายทำไม่เกิน 50 คน ให้ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
- กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการถ่ายทำเกิน 50 คน ให้ดำเนินการตามขั้นตอนในการขออนุญาตจัดกิจกรรม
หน่วยงานกำกับดูแลรับผิดชอบ ได้แก่
- สำนักงาน กสทช. : กำกับดูแลรายการโทรทัศน์ ข่าว ละคร และรายการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันที่ออกอากาศทางโทรทัศน์หรือผ่านสื่อออนไลน์
- กระทรวงวัฒนธรรม : กำกับดูแลภาพยนตร์และวีดิทัศน์
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา : กำกับดูแลภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย
(13) โรงมหรสพ โรงละคร
ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความเหมาะสมให้มีการจัดแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้าน หรือการแสดงอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันได้ ไม่เกินเวลา 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้แสดงและเจ้าหน้าที่รวมไม่เกิน 50 คน และให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา
อนุโลมให้ขณะแสดงบนเวทีที่อาจถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้ โดยงดการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคล และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กำหนดอย่างเคร่งครัด
ข้อ 5 เปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว
การเตรียมการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อม เพื่อการดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศตามแผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการระยะนำร่องแล้วในบางพื้นที่และจะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ความพร้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งจะได้กำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่ขึ้นเพื่อการบังคับใช้เป็นการเฉพาะต่อไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง - ศบค. กางแผน "พื้นที่นำร่อง" ท่องเที่ยว 1 พ.ย. นี้ เปิด 10 จังหวัด