ชาวปทุมฯ ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด หลังแม่น้ำเจ้าพระยาระดับน้ำเพิ่มสูง

ชาวปทุมฯ ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด หลังแม่น้ำเจ้าพระยาระดับน้ำเพิ่มสูง

"เฉลิมชัย" ขอชาวปทุมฯ ขอให้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  หลังแม่น้ำเจ้าพระยาระดับน้ำเพิ่มสูง

วันที่ 30 ก.ย.64  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ ชุมชนวัดน้ำวน ตำบลบางเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยได้พบปะพูดคุยและมอบสิ่งของให้กับชุมชนนอกคันกั้นน้ำบริเวณชุมชนวัดน้ำวน และติดตามสถานการณ์น้ำ บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากบริเวณท่าเรือวัดน้ำวน จนถึงท่าเรือกรมชลประทาน สามเสน ว่า

 

จากสภาพอากาศที่มีฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้มีน้ำท่าปริมาณมากจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มริมสองฝั่งแม่น้ำโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านใจกลางจังหวัดในเขตอำเภอเมืองปทุมธานีและอำเภอสามโคก ทำให้พื้นที่ของจังหวัดปทุมธานี ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ฝั่งตะวันตกของจังหวัดหรือบนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา กับฝั่งตะวันออกของจังหวัดหรือบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้มอบหมายกรมชลประทานให้บริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 64) มีปริมาณการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 2,800 ล้าน ลบ.ม./วินาที ซึ่งยังไม่เกินปริมาณที่กำหนด จึงสามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ขอให้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 

 

ทั้งนี้ จังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 0.55 ล้านไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน 0.54 ล้านไร่ ซึ่งกรมชลประทาน มีแผนจัดสรรน้ำ 948 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ย. 64) จัดสรรไปแล้ว 734 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการเพาะปลูกข้าว 0.31 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.24 ล้านไร่ (77%) และเก็บเกี่ยวแล้ว 0.14 ล้านไร่ 

นอกจากนี้ ยังได้มีแผนการบริหารจัดการน้ำหลาก ปี 2564 โดยมีการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงประสบภัยจากน้ำหลาก การบริหารจัดการ (แผนเผชิญเหตุ) โดยมีการควบคุมการระบายน้ำในคลองต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อม โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมประจำทุกปี จุดละ 1 เครื่อง จำนวน 16 จุด 

 

ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา