GISTDA เปิดภาพมวลน้ำ 4 อำเภอ เมืองกรุงเก่า
GISTDA เผยภาพมวลน้ำท่วมจากดาวเทียม ในพื้นที่อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา และอำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม 4 อำเภอ ประมาณ 120,000 ไร่
GISTDA เผยภาพจากดาวเทียม Kanopus-V (คาโนปุส-วี) ของวันที่ 30 กันยายน 2564 พบมวลน้ำท่วม (สีดำ-สีขาว สีที่แตกต่างกันเป็นเพราะปัจจัยของตะกอนและการไหลของน้ำ) ในพื้นที่อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา และอำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม 4 อำเภอ ประมาณ 120,000 ไร่ ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ทุ่งรับน้ำในเขตภาคกลางตอนล่าง รวมถึงบริเวณริมลำน้ำสายหลัก ลำน้ำย่อย และเส้นทางการจราจร โดยมวลน้ำเหล่านี้จะไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา และออกสู่อ่าวไทยต่อไป ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงและริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ข้อมูลภาพจากดาวเทียมเหล่านี้ GISTDA จะส่งต่อให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน การติดตาม การประเมินสถานการณ์ และการฟื้นฟูความเสียหายต่อไป ทั้งนี้ ข้อมูลจากดาวเทียม Pléiades นี้ได้รับการสนับสนุนจาก The international charter space and major disasters, UNESCAP, United Nations Satellite Centre (UNOSAT), CNES และ AIRBUS ภายใต้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศกับภารกิจภัยพิบัติที่ GISTDA เข้าร่วม
GISTDA ยังคงวางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ท่านสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร อว.ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ที่ ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และผลงานด้านการบริหารจัดการน้ำของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ในพื้นที่ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ตั้งใจมาเยี่ยมเยียนและนำความห่วงใยจากรัฐบาลมามอบให้ชาวบ้าน ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นจุดรับน้ำจากทางเหนือมาแต่ไหนแต่ไร และยังนำถุงยังชีพ ที่มีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง สิ่งของจำเป็น มามอบให้ซึ่งมีหลายชิ้นที่เป็นนวัตกรรมของ อว. เช่น เครื่องกรองน้ำของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่สามารถกรองน้ำที่ท่วมอยู่เป็นน้ำสะอาดที่ดื่มกินได้ เรียกว่า เรามีใจ มีมือ มีเท้า และมีนวัตกรรมมาช่วยชาวบ้าน
ที่สำคัญ เรายังมีกำลังคน คือ ผู้ได้รับการจ้างงานในโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ซึ่งได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนมากว่า 8 เดือน ก็ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานมาช่วยชาวบ้านในสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งการจัดกิจกรรมฝึกอบรมแปรรูปเพื่อถนอมอาหาร และการแปรรูปสมุนไพร เช่น ยาสเปร์ฉีดกันยุง ยาหม่อง เพื่อนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ บรรจุในถุงยังชีพเพื่อแจกจ่ายผู้ทีได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้ยังจะมีการจัดกิจกรรมช่วยเหลือภายหลังน้ำลดด้วยการจัดทีม นักศึกษาด้านช่างมาช่วยซ่อมแซม อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องยนต์การเกษตร เป็นต้น
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ชาว ต.บ้านกุ่ม ชื่นชมโครงการ U2T มาก เพราะได้เข้ามาช่วยพัฒนาชุมชนในหลายมิติ โดยเฉพาะการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ด้วยตำบลแห่งนี้ เป็นบ้านเกิดของนายขนมต้ม นักมวยสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้คนไทยในเรื่องมวยไทยเป็นอย่างมาก
ชาวบ้านจึงมีความต้องการที่จะพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสุขภาพ โครงการ U2T จึงเข้ามาช่วยพัฒนาในส่วนนี้ ภายใต้ความร่วมมือการทำงานแบบบูรณาการกับภาคเครือข่ายทั้งในส่วนของภาครัฐ และเอกชน ด้วยการทำโปรแกรม “ท่องเที่ยวย้อนตํานานที่บ้านกุ่ม” โดยชูประเด็น นายขนมต้มบรรพบุรุษของชุมชน ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมจัดกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP 3 ผลิตภัณฑ์ เพื่อออกจําหน่ายสู่ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง และการพัฒนาด้านท่องเที่ยว ที่จะนำมาซึ่งการสร้างและกระจายรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนภายในชุมชน ชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ภายหลังการตรวจเยี่ยมและติดตามผลโครงการ U2T และให้กำลังประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว รมว.อว.พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางต่อไปยัง อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เพื่อติดตามผลงานด้านบริหารจัดการน้ำของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) โดยหลังรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทาง สสน.ได้นำ รมว.อว.และคณะไปเยี่ยมชมนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำของชุมชน โดยเริ่มที่การบริหารจัดการน้ำของแม่น้ำป่าสัก และคลองระพีพัฒน์ จากนั้นเยี่ยมชมพื้นที่แก้มลิงร่องสวนปาล์มน้ำมัน พร้อมกันนี้ได้เดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลบึงชำอ้อ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำด้วยเทคโนโลยีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศและระดับน้ำอัตโนมัติ