กาฬสินธุ์ เร่งเสริมถนน ป้องกันมวล "น้ำชี" ล้นตลิ่งท่วมเส้นทางจราจร
มวลน้ำจาก จ.ขอนแก่น ที่ไหลลงสู่แม่น้ำชี เคลื่อนตัวเข้ามาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เริ่มส่งผลกระทบพื้นที่การเกษตร-เส้นทางคมนาคม ขณะที่ ปภ. ร่วมกับฝ่ายปกครอง หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 24 ระดมกำลังคน อุปกรณ์ นำรถบรรทุกดิน เร่งเสริมถนน ป้องกันน้ำท่วมเส้นทางจราจร
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 64 จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชี พื้นที่ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เขตติดต่อกับ จ.มหาสารคาม โดยสถานการณ์ล่าสุด มวลน้ำจาก จ.ขอนแก่น ที่ไหลลงสู่แม่น้ำชี ได้เริ่มไหลมาถึงพื้นที่แล้วและเริ่มเอ่อหนุนสูงขึ้น บางจุดไหลผ่านเข้ามาตามท่อระบายน้ำ ส่งผลให้ระดับน้ำหนุนสูงและเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร และไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ และใกล้จะท่วมเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะถนนสายบ้านท่าแห่ ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย กับบ้านใคร่นุ่น ต.มะค่า อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
ทั้งนี้ นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอฆ้องชัย และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 24 สำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และ อบต.ลำชี นำเจ้าหน้าที่ กำลังพล และรถบรรทุกดินเข้าเสริมถนนสายดังกล่าว เพื่อป้องกันน้ำเอ่อท่วมถนน และพื้นที่การเกษตร พร้อมนำยุทโธปกรณ์ติดตั้ง เช่น เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบน เตรียมความพร้อมรับมือและช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่เขื่อนวังยาง ซึ่งกั้นแม่น้ำชีระหว่าง จ.กาฬสินธุ์-จ.มหาสารคาม นายไมตรี สุวรรณศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 (เขื่อนวังยาง) พร้อมเจ้าหน้าที่ยังเฝ้าระวังสำรวจความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อน และเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด
นายไมตรี กล่าวว่า มวลน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำชีดังกล่าว มีต้นน้ำจาก จ.ชัยภูมิ ไหลผ่านพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม ระดับน้ำปัจจุบันอยู่ที่ 138.48 ม.รทก. สูงกว่าระดับเก็บกัก 1.50 เมตร ซึ่งอยู่ในระดับเฝ้าระวัง ทั้งนี้มวลน้ำที่ไหลลงมาได้เพิ่มระดับสูงขึ้น 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามประมาณน้ำดังกล่าว อยู่ในระดับเฝ้าระวัง พร้อมกับปักธงเหลือง ซึ่งทางเขื่อนวังยาง ยังคงสามารถรองรับได้อีกจำนวนมาก ขณะที่อาจจะมีบางพื้นที่ที่ลุ่มต่ำริมฝั่งชี ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลลงมา ทั้งนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง ได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้ง จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด ขนสิ่งของขึ้นที่สูง เพื่อป้องกันความเสียหาย ที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วม