กสร. เคลียร์ชัด ลูกจ้างทดลองงานมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ระหว่าง "ลาป่วย"
กสร. แจงหลังพบโพสต์ในสื่อออนไลน์ระบุว่า ลูกจ้างทดลองงานหากลาป่วยจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ยืนยันเป็นข่าวเท็จ พร้อมย้ำกรณีลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างทดลองงานได้รับอนุญาตให้ลาป่วย ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.64 นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึง กรณีโพสต์ข้อความหนึ่งในสื่อออนไลน์ ระบุว่า "ลูกจ้าง" ที่อยู่ในระหว่างทดลองงานหากใช้สิทธิลาป่วยจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่าง "ลาป่วย"
โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ตรวจสอบและขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวเท็จทั้งนี้ขอให้ประชาชนอย่าแชร์ข้อมูลออกไปอันจะก่อให้เกิดการความเข้าใจผิดได้
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับมายัง กสร. ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ให้ดำเนินการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งกรมขอชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้างปีหนึ่งไม่เกิน 30 วัน
โดยลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างตามผลงาน หรือลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างทดลองงาน ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างทดลองงานมักมีความเข้าใจผิดว่า หากลูกจ้างไม่มาทำงานก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง
ความจริงแล้วไม่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นว่าลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างทดลองงาน "ลาป่วย" ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ดังนั้นลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างทดลองงานจึงมีสิทธิลาป่วย และมีสิทธิได้รับค่าจ้างปีละไม่เกิน 30 วันทำงาน เช่นเดียวกับลูกจ้างประเภทอื่น
นอกจากนี้ นายจ้างจะออกระเบียบหรือทำข้อตกลงให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไม่ได้ เช่น ตกลงให้ค่าจ้างวันลาป่วยปีละไม่เกิน 20 วัน หรือลูกจ้างทดลองงานไม่มีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็น เป็นต้น ถือว่าข้อตกลงเช่นนี้ตกเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้มีข่าวเท็จหรือข่าวปลอมในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและความเข้าใจผิดขึ้น และกรณีนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายแรงงาน สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1546 หรือ 1506 กด 3