ดราม่า! "ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็ก" ผลข้างเคียงรุนแรง น่าหวาดกลัวจริงหรือ?
กระแสดราม่าตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่พ้นเรื่องของการ "ฉีดวัคซีนไฟเซอร์" ให้แก่เด็กนักเรียนกลุ่มอายุ 12-17 ปี ซึ่งมีนักเรียนบางส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นกังวลและหวาดกลัวการฉีดวัคซีน จนติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิสเตอร์ #ไฟเซอร์นักเรียน
“วัคซีนไฟเซอร์” เป็นวัคซีนชนิด mRNA 1 ใน 2 ยี่ห้อ ที่ได้รับการอนุมัติใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ่นไป จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งขณะนี้มีเพียงไฟเซอร์ ยี่ห้อเดียวที่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย โดยฉีดวันแรกไปตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.2564 ในโรงเรียนพื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัด ซึ่งการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็ก จะเป็นไปตามความสมัครของกลุ่มผู้ปกครอง
- ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็กแล้ว 3.3%
จากเอกสารเผยแพร่ข่าวจากระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ. กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับกลุ่มนักเรียน มีผู้ปกครองแสดงความจำนงให้บุตรหลานฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 3,618,000 กว่าราย คิดเป็น 71% ของตัวเลขนักเรียนทั่วประเทศ 5,048,000 ราย จากฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ขณะนี้ล็อตแรกเข้ามาแล้ว 2 ล้านโดส จะกระจายให้ทุกจังหวัด โดยสัดส่วนวัคซีนจะพิจารณาความพร้อมของแต่ละจังหวัดด้วย และจะส่งให้ครบภายในเดือน ต.ค. ซึ่งจะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามารวม 8 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ได้มีการฉีดวัคซีนในนักเรียน/นักศึกษาอายุ 12-17 ปีทั่วไปเริ่มเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ฉีดสะสมแล้ว 150,190 คน คิดเป็น 3.3 % ของเป้าหมาย 4.5 ล้านคน ซึ่งผู้ที่รับวัคซีนไฟเซอร์หากเป็นกลุ่มที่อายุน้อยจะต้องมีการเฝ้าระวัง
อ่านข่าว : "รัฐบาล" ห่วงกระแส "ติ๊กต๊อก" ทำนักเรียนผวา ยัน ฉีดไฟเซอร์ปลอดภัย
- ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง
ส่วนนักเรียน/นักศึกษาที่รับวัคซีนแล้ว ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นอาการไม่พึงประสงค์ เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เช่น แน่นหน้าออก เจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อยง่าย หมดสติ เป็นลม ใจสั่น ให้แจ้งผู้ปกครองหรือครู โดยที่ผ่านมาที่มีการฉีดในเด็กกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัวก่อนหน้านี้ พบ 3 รายแต่ได้รับการรักษาพยาบาลแล้วอาการที่ไม่ได้รุนแรง สามารถหายป่วยได้ถ้ารักษาถูกต้องและทันเวลา ซึ่งไม่ใช่การฉีดวัคซีนในกลุ่มนักเรียน เพราะเริ่มฉีดวันที่ 4 ต.ค. ยังเร็วไป ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง
คำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า เด็กและวัยรุ่นอายุ 16-18 ปี ขึ้นไป ทุกรายไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน และเน้นกว่าในกลุ่มวัย 12- น้อยกว่า 16 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ของบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค ซึ่งวัคซีน mRNA อีกชนิดที่ขึ้นทะเบียนในเด็กแล้วสำหรับประเทศไทย มีวัคซีนโมเดอร์นาอีกยี่ห้อ แต่ขณะนี้ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย
สำหรับเด็กและวัยรุ่นชายที่แข็งแรงดี ให้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และชะลอการให้เข็มที่ 2 ไปก่อน จนกว่าจะมีข้อมูลความปลอดภัยเพิ่มเติม เนื่องจากการฉีดเข็ม 2 ในเด็กกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงสูงกว่าเข็มแรกจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งพบน้อยมาก
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ระบุเหตุผลเกี่ยวกับคำแนะนำนี้ว่า เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อและเยื่อหัวใจอักเสบได้สูงสุดในเด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอายุนี้ และมักพบสัมพันธ์กับภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มสอง
- เฝ้าระวังอาการ สังเกตุอาการเหล่านี้
อ้างอิงข้อมูลจากรายงานของ ระบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนของสหรัฐอเมริกา (Vaccine Adverse Event Reporting System - VAERS) ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-18 มิ.ย. 2564 รายงานอัตราการเกิดอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอายุ 12- น้อยกว่า 16 ปี ในอัตรา 162.2 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส
ในขณะที่อัตราอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นในเด็กหญิงกลุ่มอายุเดียวกันพบในอัตราที่ต่ำกว่ามาก คือ 13 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส
ส่วนข้อมูลเรื่องการป้องกันเชื้อไวรัสทั้งในแง่สายพันธุ์และความรุนแรงหลังจากฉีดไฟเซอร์ เข็มที่ 1 และ 2 พบว่าประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 36% หลังฉีดเข็มที่หนึ่ง และ 88% หลังฉีดเข็มที่สอง นอกจากนี้ยังป้องกันการติดโควิดที่อาการรุนแรงต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 94% หลังฉีดเข็มที่หนึ่ง และ 96% หลังฉีดเข็มที่สอง
คำแนะนำนี้จึงพิจารณาให้เด็กและวัยรุ่นหญิงได้รับประโยชน์จากวัคซีนเต็มที่จากการฉีด 2 เข็ม ในขณะที่เด็กผู้ชายจะต้องมีการประเมินประโยชน์และความเสี่ยงเพิ่มเติมเมื่อได้ข้อมูลในบริบทของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ก่อนจะให้คำแนะนำในการฉีดเข็มต่อไป
การติดตามเฝ้าระวังอาการและความปลอดภัยใช้ระบบเดียวกับผู้ใหญ่ โดยมีการเฝ้าระวังอาการแพ้รุนแรงช่วง 30 นาทีแรกหลังฉีด และมีการติดตามอาการต่อเนื่องอีก 30 วัน
กรณีข้อกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ นพ.เฉวตสรร จากกรมควบคุมโรค บอกเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ว่า อัตราการเกิดต่ำมาก
อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตอาการ ดังนี้
- แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
- หอบเหนื่อยง่าย
- ใจสั่น
- หมดสติ เป็นลม หรือรู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ
หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบมารับการรักษา เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะอื่นได้ และข้อปฏิบัติภายใน 7 วันหลังฉีดวัคซีน ไม่แนะนำเรื่องออกกำลังกายหนัก ๆ ทั้งในเด็กและวัยรุ่นหญิงชาย เพราะจะทำให้หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้น และความรู้สึกเหนื่อยจากออกกำลังกาย อาจทำให้กังวลและไม่แน่ใจว่าเป็นผลจากวัคซีนหรือไม่
- "ไฟเซอร์" ยื่นฉีดวัคซีนเด็กอายุ5-11ขวบ
ทั้งนี้ บริษัทไฟเซอร์ และผลการใช้งานจริงจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) มานำเสนอ เพื่อให้ประชากรกลุ่มอายุ 12-17 ปีมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือในระดับสากลมาประกอบการตัดสินใจฉีดวัคซีนโควิด-19
ไฟเซอร์ อิงค์ และไบออนเทค เอสอี ยื่นคำร้องขอคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบสหรัฐฯอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉินสำหรับเด็กอายุ 5 ถึง 11 ขวบ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กลุ่มอายุที่ยังไม่ได้รับไฟเขียวในปัจจุบัน จากการเปิดเผยของไฟเซอร์ในวันพฤหัสบดี(7ต.ค.)
สำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ วางกำหนดการไว้ในวันที่ 26 ตุลาคม สำหรับให้คณะที่ปรึกษาภายนอกประชุมหารือกันเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าว เปิดทางความเป็นไปได้ที่ให้เด็กกลุ่มอายุนี้ ซึ่งมีจำนวนราวๆ 28 ล้านคน เริ่มเข้ารับวัคซีน 2 เข็มของไฟเซอร์/ไบออนเทค ไม่นานหลังจากนั้น
ก่อนหน้านี้ วัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค ได้รับอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐฯ สำหรับเด็กอายุ 12 ถึง 15 ปี และได้รับอนุมัติเต็มรูปแบบจากคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบ สำหรับบุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไป
เจฟฟรีย์ เซียนต์ส ผู้ประสานงานการรับมือโควิด-19 ของทำเนียบขาวเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็น ว่าวัคซีนน่าจะพร้อมฉีดอย่างเร็วที่สุดในเดือนพฤศจิกายน รอเพียงขั้นตอนการอนุมัติจากหน่วยงานควบคุมกฎระเบียบต่างๆของรัฐบาลกลาง
เซียนต์ส กล่าวว่า "เราพร้อม เรามีเสบียง เรากำลังทำงานกับรัฐต่างๆในการจัดตั้งสถานที่ที่สะดวกสำหรับผู้ปกครองและเด็กที่จะเข้าฉีดวัคซีน ในนั้นรวมถึงตามศูนย์กุมารเวชทั้งหลายและสถานที่ในชุมชน"
อ้างอิง: ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ,พีพีทีวี, กรมควบคุมโรค