แผนฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็ก 4.5ล้านคน เตรียมพร้อมเปิดเทอม
ศธ.เปิดแผนฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็ก 4.5 ล้านคน ทุกสังกัด เริ่มเดือนต.ค.นี้ เตรียมพร้อมเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 ย้ำเน้นเรื่องความปลอดภัยในเด็กเป็นอันดับแรก
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)แถลงข่าวเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ว่า จากการหารือร่วมกันระหว่าง ศธ. กับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เบื้องต้นมีแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ได้แก่
1.แผนการฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับนักเรียน
ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน ได้อนุมัติในหลักการให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ทุกคน ทุกสังกัด กว่า 4.5 ล้านคน
ทั้งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 โดยจะฉีดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน
ในส่วนของ ศธ.ได้วางแผนการดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียน นักศึกษาในสังกัดทั้งของรัฐและเอกชน ที่มีอายุ 12-18 ปี ซึ่งการฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจ ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน โดย ศธ. ได้กำหนดให้มีการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน และวิธีการปฏิบัติก่อนและหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเริ่มสร้างความเข้าใจในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการสอบถามความยินยอมให้เด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
อ่านข่าว-ด่วน! ยอด โควิด-19 วันนี้ พบติดเชื้อเพิ่ม 12,853 ราย เสียชีวิต 132 ราย
- เปิดแผนฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็กต.ค.นี้
2.แผนการดำเนินโครงการโรงเรียน Sandbox Safety Zone in School (SSS)
เป็นมาตรการสำหรับโรงเรียนประจำ เช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อม โดย ศธ.จะประสานกับ สธ.ในการลงพื้นที่ตรวจโรงเรียน ที่จะประสงค์เข้าโครงการว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่ ทั้งนี้การเป็นโรงเรียน SSS มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.เป็นโรงเรียนประจำ 2. เป็นไปตามความสมัครใจและ 3. ผ่านการประเมินความพร้อม
โดยต้องแจ้งความประสงค์ผ่านต้นสังกัด มีการหารือร่วมกับผู้ปกครองและผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดให้มีสถานแยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดให้มี Safety Zone ในโรงเรียน มีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจ ราชการของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข
รวมถึงมีการรายงานผล ผ่าน MOE COVID และ Thai Stop Covid Plus ซึ่งในขณะนี้ มีสถานศึกษาจำนวน 15,465 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยใน 12 จังหวัด มีสถานศึกษาจำนวน 1,687 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่ 45 อำเภอปลอดเชื้อ แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,305 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 111 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 21 แห่ง และสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 250 แห่ง
- เช็คกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไฟเซอร์
อย่างไรก็ตาม ศธ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา เป็นอันดับแรก โดยได้ปรึกษาและประสานงานกับ สธ.ให้เข้ามาช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และการฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจ ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน โดยกระทรวงฯ จะเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน รวมถึงวิธีการปฏิบัติก่อนและหลังการฉีดวัคซีน สำหรับการฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น
ขณะนี้มีครูได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 70% โดยแผนการจัดสรรวัคซีนในเดือนตุลาคมนี้จะให้สถานศึกษาส่งรายชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยัง ไม่ได้รับวัคซีนมาด้วย เพื่อเร่งจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มครู
ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์
- ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน
- นักเรียนนักศึกษาในสังกัด ทั้งของรัฐและเอกชน ที่มีอายุ 12-18 ปี
เงื่อนไขในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์
-การฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจ ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน ศธ.ได้กำหนดให้มีการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน และวิธีการปฏิบัติก่อนและหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเริ่มสร้างความเข้าใจในสัปดาห์หน้า
หลังจากนั้น จะเป็นขั้นตอนของการสอบถามความยินยอมให้เด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดแบบฟอร์มยินยอมให้เด็กในปกครองฉีดวัคซีน และให้สถานศึกษานำส่งรายชื่อ และจำนวนนักเรียนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน เพื่อรวมรายชื่อทั้งในสังกัดและนอกสังกัด ศธ.ไว้ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จากนั้นจะมีการประชุมเพื่อสอบทานสรุปข้อมูลนักเรียนอายุ 12-18 ปี กับสาธารณสุขจังหวัด เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนต่อไป