ปภ.แจ้งทุก จว.ระวัง 24 ชม.! 13-14 ต.ค.พายุ“คมปาซุ”ขึ้นฝั่งเวียดนามกระทบไทย
“ปภ.” แจ้งเตือนทุกจังหวัดเฝ้าระวังใกล้ชิด 24 ชม.! จับตา 13-14 ต.ค. 2564 สถานการณ์พายุ “คมปาซุ” ขึ้นฝั่ง “เวียดนาม” ทำคลื่นลมแรงทั้งฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2564 เวลา 19.20 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งทุกจังหวัดเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์จากสถานการณ์ของพายุโซนร้อน “คมปาซุ” และสถานการณ์คลื่นลมแรงทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ในช่วงวันที่ 13 – 14 ต.ค. 64 อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้โดยทันที รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ สถานการณ์ภัย และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 3 (171/2564) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2564 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า พายุโซนร้อน “คมปาซุ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน และขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน ในวันที่ 13 – 14 ตุลาคม 2564 โดยจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
กอปภ.ก. จึงได้แจ้งให้ทุกจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในช่วงวันที่ 13 – 14 ตุลาคม 2564 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์และข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาตลอด 24 ชั่วโมง และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำสะสม ให้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที ทั้งนี้ หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ สถานการณ์ภัย และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมความพร้อมมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น หากได้รับความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึง สายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป