ปภ.อัพเดต“น้ำท่วม” 15 ต.ค. “ไลออนร็อก”ทำจมอยู่อีก 3 จว.-กระทบ 7,931 ครัวเรือน

ปภ.อัพเดต“น้ำท่วม” 15 ต.ค. “ไลออนร็อก”ทำจมอยู่อีก 3 จว.-กระทบ 7,931 ครัวเรือน

“ปภ.” อัพเดต “น้ำท่วม” อิทธิพลพายุ “ไลออนร็อก” 15 ต.ค. กินพื้นที่ 9 จว. กระทบ 7,931 ครัวเรือน คลี่คลายแล้ว 6 แห่ง เหลืออีก 3 แห่ง ส่วน “เตี้ยนหมู่” เบาลงเรื่อย ๆ คลี่คลายแล้ว 23 จว. ยังเหลือสถานการณ์อีก 10 แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 เวลา 10.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวม 13 จังหวัด โดยอิทธิพลพายุ “ไลออนร็อก” ตั้งแต่วันที่ 8 – 15 ต.ค. 64 ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 9 จังหวัด 20 อำเภอ 90 ตำบล 416 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,931 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 3 จังหวัด (เพชรบูรณ์ จันทบุรี และตราด

ขณะที่อิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. – 7 ต.ค. 64  ทำให้เกิดอุทกภัย รวม 33 จังหวัด รวม 225 อำเภอ 1,201 ตำบล 8,214 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 333,257 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 14 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 23 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 10 จังหวัด (ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา นครสวรรค์ ลพบุรี  สุพรรณบุรี  สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี) ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือประชาชนต่อไป

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุ “ไลออนร็อก” ซึ่งได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย  ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. - ปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง เลย เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร และระนอง รวม 20 อำเภอ 90 ตำบล 416 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,931 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด 
ยังคงมีสถานการณ์ 3 จังหวัด 8 อำเภอ 23 ตำบล 127 หมู่บ้าน 5,534 ครัวเรือน ดังนี้ 

1.เพชรบูรณ์ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอวังโป่ง  ระดับน้ำลดลง

2.จันทบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาคิชฌกูฎ อำเภอมะขาม อำเภอขุลง อำเภอเมืองจันทบุรี และอำเภอแหลมสิงห์ ระดับน้ำลดลง

3.ตราด ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาสมิง และอำเภอเมืองตราด ระดับน้ำลดลง 

ในส่วนของผลกระทบจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. – 7 ต.ค. 64 ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 225 อำเภอ 1,201 ตำบล  8,214 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 333,257 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 14 ราย (ลพบุรี 11 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย ชัยนาท 1 ราย) ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 23 จังหวัด 

ยังคงมีสถานการณ์ 10 จังหวัด รวม 45 อำเภอ 308 ตำบล 1,683 หมู่บ้าน 86,681 ครัวเรือน ดังนี้

1. ขอนแก่น มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอโคกโพธิ์ชัย อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรี อำเภอพระยืน อำเภอบ้านแฮด อำเภอบ้านไผ่ และอำเภอเมืองขอนแก่น  ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำลดลง 

2. มหาสารคาม มวลน้ำจากจังหวัดขอนแก่นไหลเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม ระดับน้ำทรงตัว

3. นครราชสีมา น้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนสูง อำเภอพิมาย อำเภอคง อำเภอประทาย อำเภอ          ชุมพวง และอำเภอเมืองยาง) ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร ยังคงมีบางส่วนเป็นบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำลดลง 

4. นครสวรรค์ น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอพยุหะคีรี และอำเภอโกรกพระ ระดับน้ำลดลง

5. ลพบุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี และอำเภอบ้านหมี่ ระดับน้ำลดลง

6. สุพรรณบุรี ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง ได้ระบายน้ำจากประตูน้ำสําเภาทองลงสู่แม่น้ำท่าจีน ระดับน้ำลดลง

7. สิงห์บุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ประมาณ 15-25 ซม. บางพื้นที่ประชาชนเริ่มกลับเข้าทำความสะอาดที่พักแล้ว

8. อ่างทอง ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอไชโย อำเภอป่าโมก อำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอสามโก้ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผง ระดับน้ำลดลง

9. พระนครศรีอยุธยา น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอมหาราช อำเภอนครหลวง อำเภอบางปะหัน และอำเภอบางซ้าย ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ ระดับน้ำลดลง

10.ปทุมธานี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ริมน้ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก ระดับน้ำลดลง

ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายในหลายพื้นที่ แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ  ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ 

สำหรับประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง