"ปชช.แสนชื่อ" ยื่นสภาฯ แก้กม.คุมแอลกอฮอล์ เพิ่มสิทธิร้องค่าเสียหายทางแพ่ง

"ปชช.แสนชื่อ" ยื่นสภาฯ แก้กม.คุมแอลกอฮอล์ เพิ่มสิทธิร้องค่าเสียหายทางแพ่ง

เครือข่ายภาคประชาชน นำ 107,917 ชื่อยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ ให้สภาพิจารณา ยึดเจตนารมณ์ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เพิ่มสิทธิเรียกร้องทางแพ่งให้ผู้เสียหาย

          เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายงดเหล้าทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เครือข่ายเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ เครือข่ายเมาแล้วขับ เครือข่ายแท็กซี่สามล้อ เครือข่ายเด็กและเยาวชน นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและภาคีเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกันยื่นร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องแอลกอฮอล์ แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีประชาชนร่วมเข้าชื่อเสนอจำนวน 107,917 คน ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนรับยื่น 

 

          โดยนายธีระ   กล่าวว่า  พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่เป็นการรวบรวมรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมาย โดยถือว่าเป็นกฎหมายที่ประชาชนให้ความสนใจเพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยรู้สึกว่าเรื่องของแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่จะต้องควบคุม แต่ตลอดเวลาที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพประสิทธิผลในระดับหนึ่ง และยังจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาให้ทันกับยุคสมัย 

         ขณะที่ นายธีรภัทร์   กล่าวว่า ในร่างแก้ไขที่เสนอนี้ได้มีการยึดหลักเจตนารมณ์เดิมเรื่องของการป้องกันการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนหรือนักดื่มหน้าใหม่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในสังคมและคุมครองสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ และมีการเพิ่มมาตรการบางมาตรการ เช่น การควบคุมเรื่องตราเสมือนของเครื่องเื่มแอลกอฮอล์ อย่างโซดาหรือน้ำดื่มที่มีการโฆษณาแฝง รวมถึงการเพิ่มสิทธิในการเรียกร้องความเสียหายทางแพ่งให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากผู้กระทำที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

           ด้านนายสมบูรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางเครือข่ายและผู้เชิญชวนได้มีการยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อวินิจฉัยว่าร่างกำหมายดังกล่าวอยู่ในรัฐธรรมนูญหมวดที่ 3 หรือหมวดที่ 5 ที่ภาคประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือไม่ เพื่อเห็นชอบให้ผู้เชิญชวนได้ไปรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้มีจำนวนถูกต้องตามกฎหมายกำหนด และจากนี้เมื่อรับร่างกฎหมายมาแล้วทางสภาก็จะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อทั้งหมด ก่อนจะเสนอต่อประธานสภาฯเพื่อพิจารณาและบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของสภาฯในวาระที่ 1 ทางผู้แทนของเครือข่ายก็จะได้สิทธิในการเข้าไปเป็นกรรมาธิการเพื่อร่วมพิจารณากฎหมายดังกล่าวได้ด้วยจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการ