ปรับสูตรวัคซีนอัดไฟเซอร์ 2 เข็ม คุมรอยต่อชายแดนใต้
ปรับสูตรฉีดวัคซีนอัดไฟเซอร์ 2 เข็มคุมพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดชายแดนใต้ลดการติดเชื้อวันละ300คน หวั่นตัวเลขติดเชื้อพุ่งทยาน 1,000คนต่อวันในเดือนพ.ย.นี้
นายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดสงขลา โดยภาพรวมกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั้งจังหวัด แต่สัดส่วนที่หนาแน่นเกาะกลุ่มอยู่ในโซน จ.สงขลาตอนล่าง ซึ่งเป็นรอยต่อเชื่อม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น อ.สะบ้าย้อย, เทพา, จะนะ,สะเดา ,รัตภูมิ และหาดใหญ่ ซึ่งก็ยอมรับว่าทั้งหมดเป็นพื้นที่ซึ่งมีการฉีดวัคซีนน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆจึงกำหนดให้โซนสงขลาล่างเป็นพื้นที่ฉีดวัคซีนภายในเดือนตุลาคมนี้ให้มากที่สุด
ปัจจุบัน จังหวัดสงขลา มีศักยภาพการฉีดวัคซีนวันละ22,000-25,000 โดส ทำให้มั่นใจว่าตุลาคมนี้จะฉีดได้ครอบคลุมทั้ง 70%ของประชากรทั้งจังหวัดตามเป้าหมายของ ศบค.ส่วนหน้าที่กำหนดไว้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากหากประเมินจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงแตะหลัก 400-600 คนต่อวัน ตั้งแต่เดือนก.ย.ที่อยู่ในระดับ 300-400คน ,เดือนต.ค.500-600คน ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าพ.ย.นี้ตัวเลขอาจพุ่งไปที่ 800-1,000 คนต่อวัน ทำให้ต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อปรับตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างน้อย 300 คนให้ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้
รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา บอกอีกว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงในแต่ละวันทำให้ต้องปรับสูตรการฉีดวัคซีนจากสูตรไขว้คือซิโนแวค+ แอสตร้าฯจะเปลี่ยนเป็นไฟเซอร์+ไฟเซอร์ ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มนักเรียนอายุ12ปีขึ้นไปที่ใกล้เปิดเทอมซึ่งสงขลามีประมาณ120,000 คน เบื้องต้นสมัครใจฉีด 92,000 คนก็จะเร่งรัดให้ฉีดให้ครบในเดือนตุลาคมนี้ให้ 100%
นายแพทย์ปพน กล่าวถึงแผนการรองรับผู้ติดเชื้อจ.สงขลามีเตียงทั้งหมด 12,000เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารักษา 8,600 คน เฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มสีแดงเตรียมไว้ 186 เตียง ซึ่งข้อมูลล่าสุดมีผู้ติดเชื้อกลุ่มสีแดงจำนวน 89 ราย ทำให้เตียงยังมีจำนวนเพียงพอที่จะรองรับได้ ขณะที่กลุ่มสีเหลืองนั้นมีการเตรียมพร้อมโรงพยาบาลชุมชน (รพ.สต.)ไว้ทุกอำเภอ เช่นเดียวกับส่วนศูนย์พักคอย(CI)มีอยู่110แห่งรอบรับได้ 1,500 เตียง