"หมอธีระวัฒน์" เล่าละเอียด ภูมิคุ้มกันโควิด 3 ชนิดทำงานต่างกันอย่างไรบ้าง
หมอธีระวัฒน์ โพสต์เฟซบุ๊กพูดถึง ระบบภูมิคุ้มกัน "โควิด-19" เกี่ยวกับลักษณะการทำงานโดยแบ่งเป็น 3 ชนิด ประกอบด้วย ภูมิคุ้มกันดี เลว และชั่ว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ( หมอธีระวัฒน์ ) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กพูดถึง ระบบภูมิคุ้มกัน "โควิด-19" เกี่ยวกับลักษณะการทำงานโดยแบ่งเป็น 3 ชนิด ประกอบด้วย ภูมิคุ้มกันดี เลว และชั่ว
โดย หมอธีระวัฒน์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา คนไทยเกือบทั้งประเทศคงเคยได้ยินและได้รู้จักกับคำว่า "ภูมิ" โดยเฉพาะภูมิที่ได้จากการ "ฉีดวัคซีน" ชนิดต่างๆ ทั้งนี้ เป็นที่ดีอกดีใจกันยกใหญ่ ที่ตัวเลขภูมิที่ตรวจได้จากเลือดมีปริมาณสูงเป็น 1,000 เป็น 10,000 และเป็นที่เข้าใจกันว่า ภูมิดังกล่าวสามารถป้องกันการติดเชื้อรวมกระทั่งถึงการป้องกันไม่ให้เกิดอาการหนักจนกระทั่งถึงเสียชีวิตได้
กลไกในการป้องกันการติดเชื้อค่อนข้างตรงไปตรงมาในโควิด ทั้งนี้ เกิดจากการที่มีภูมิที่สามารถยับยั้งไวรัสไม่ให้เกาะติดกับเซลล์เนื้อเยื่อของคน นั่นก็คือที่เยื่อบุต่างๆ ทั้งที่จมูก ลำคอ ตา ปาก กระพุ้งแก้ม เป็นต้น โดยภูมิที่ว่านี้จะมีหลายตัวทำงานที่ช่วยกัน ร่วมมือกัน
สำหรับภูมิที่ป้องกันอาการหนักหรือไม่ให้ตายนั้น จะมีตัวทำงานที่เยอะและซับซ้อนมากกว่า โดยต้องควบรวมกับการทำงานของเซลล์เพื่อที่จะมาทำลายไวรัสที่เข้าไปติดเชื้อในเซลล์หรือในเนื้อเยื่อแล้ว ในขณะเดียวกันการทำลายที่ว่าจะต้องไม่เกิดความเสียหายกับเนื้อเยื่อมากเกินควร เหมือนกับจะยิงผู้ร้ายโจรปล้นบ้าน กลายเป็นเผาบ้านไปด้วย
นอกจากนั้นการทำงานของเซลล์ยังต้องไม่ปล่อยสารอักเสบมั่ว แทนที่จะเจาะจงไปที่ตัวไวรัสกลับทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกายเกิดเป็นมรสุมภูมิวิกฤติ และคนป่วยตายจากการติดเชื้อ การกระตุ้นภูมิที่เบี่ยงเบนไปทำให้เกิดการอักเสบเป็นทวีคูณ และส่งผลเป็นลูกโซ่ทำให้เกิดมีระบบเลือดและเม็ดเลือดผิดปกติและทุกอวัยวะเสียหาย
กลับมาพูดถึงคำว่า ภูมิ หมายถึง ภูมิตอบสนองของร่างกาย ไม่ว่าต่อเชื้อโรคหรือต่อวัคซีนโควิดที่ได้รับเข้าไป
ภูมิดังกล่าวสามารถจำแนกได้ว่าเป็น ภูมิดี เลว ชั่ว เหมือนหนังคาวบอยสมัยก่อนที่มีชื่อหนังว่า the good the bad and the ugly
ภูมิดีนั้น คือ ภูมิตอบสนองที่สามารถคุ้มกันได้ เป็นภูมิคุ้มกันดีที่ปกป้องจากการติดเชื้อและผ่อนหนักเป็นเบาให้อาการน้อยหรือจะตายก็แค่คางเหลืองและไม่เสียชีวิต
ภูมิตอบสนองที่เป็นภูมิเลวนั้น เป็นที่ทราบกันมาเป็นชาติแล้ว ที่รู้จักกันดีในตัวย่อว่า ADE หรือ Antibody dependent enhancement ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของไข้เลือดออกที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (dengue) เช่น ปีที่แล้วติดเชื้อไวรัสพี่ พอมาปีนี้มาติดเชื้อไวรัสตัวเดิมแต่เป็นไวรัสน้อง
ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นต่อไวรัสตัวพี่ เมื่อมาเห็นตัวน้อง กลับเพียงแค่เข้ามาจับมือเฉยๆ และลากพาเข้าไปในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซท์ (monocyte) และแม็คโครฟาจ (macro-phage) ทำให้มีการปล่อยสารอักเสบออกมาและแทนที่จะทำให้โรคเบาลงกลับทำให้หนัก ช็อก ซึ่งกลไกในลักษณะนี้ก็เกิดขึ้น เช่นเดียวกันในการติดเชื้อจาก feline infectious peritonitis virus และตัวโควิดเองดังที่กล่าวข้างต้นและในโคโรนาอื่น เช่น ซาร์ส เมอร์ส และภูมิเลว อาศัยกลไกมาตรฐาน canonical pathway โดยผ่านทางขา Fc ของอิมมิโนกลอบูลิน
แต่แล้วก็พบว่า ภูมิตอบสนองที่เลวนั้นในกลไกของ ADE พบว่ามีแบบชั่วร้ายด้วย ดังที่รายงานในวารสารเซลล์ วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้ โดยคณะผู้วิจัยพบว่าในคนที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้น ภูมิที่เกิดขึ้น ถ้าเป็น ภูมิที่ดีจะต้องเป็นภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสได้ หรือ Neutralizing antibody โดยที่ระดับการยับยั้งที่ตรวจที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาของเรา ถ้าสามารถยับยั้งไวรัสได้ในระดับ 20% ถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งแต่ถ้าจะสอบผ่านหมายความว่าต้องเกินที่ระดับ 68% และทั้งนี้ถ้ายิ่งสูงเต็ม 100% จะยิ่งดีในการป้องกัน
สำหรับภูมิชั่วนั้น กลับกลายเป็นภูมิตอบสนองต่อไวรัสแต่ไม่สามารถยับยั้งไวรัสได้และไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายโดยผ่านกลไก ADE ที่มี Fc เป็นตัวการ แต่ใช้กลไกอีกชนิดหนึ่งโดยทำให้ส่วนของไวรัสจำเพาะที่จะเกาะติดกับผิวเซลล์ของคนหรือเนื้อเยื่อเก่งมากขึ้นโดยการไปถ่าง อ้า ให้ส่วนของไวรัสจำเพาะที่เรียกว่า RBD หรือ Receptor binding domain ที่อยู่ในท่อน S1 ของไวรัส และมี NTDท(N terminal domain) อยู่ด้วย
RBD ของไวรัสที่ถูกปรับทิศทาง ปรับมุมองศา จากการชักใยด้วยภูมิชั่ว จะสามารถเข้าไปจับเหมาะเหม็งกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ที่เรียกว่า ACE2 และนั่นหมายความว่าจะทำให้มีการติดเชื้อได้เก่งขึ้นไวขึ้นและเมื่อไวรัสเข้าเซลล์เป็นจำนวนมหาศาลได้ในเวลาอันรวดเร็วก็จะเป็นข้ออธิบายว่าโรคที่เกิดขึ้นก็จะดำเนินไปในทิศทางเลวร้ายลงไปอีก
ไวรัสโควิด-19 สายเพี้ยนอังกฤษ อัลฟา มีการปรับรูปพรรณสัณฐานให้ตัวจับและตัวรับเหมาะสมกันมากกว่าสายดั้งเดิมที่เกิดระบาดตั้งแต่ตอนต้น แต่การศึกษาก็ยังพบว่าภูมิเลวที่เกิดขึ้นในคนที่ติดเชื้ออัลฟานี้ เชื้อจะยิ่งเก่งมากขึ้นไปอีก และสมกับที่เรียกว่าเป็นภูมิชั่วชัดเจน
กลับมาถึง การวัดระดับภูมิที่วัดกันทั่วไป ภูมิดังกล่าวเป็นภูมิตอบสนองเช่นต่อวัคซีนโดยเป็นภูมิรวมทั้งหมด และมิได้หมายความว่าเป็นภูมิคุ้มกันดีที่สามารถยับยั้งไวรัสได้ทั้งหมด ดังนั้น การพินิจพิจารณาตัวเลขดังกล่าวตั้งตระหนักว่า การที่เห็นภูมิขึ้นในลักษณะดังกล่าวอาจบอกไม่ได้ว่าในภูมิรวมนั้นเป็นภูมิดี และมีแบบเลวและแบบชั่วปนอยู่หรือไม่ และถ้ามี มีอยู่เป็นจำนวนเท่าใด
ตัวภูมิเลวและภูมิชั่วนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดให้คนที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการเลวร้ายกว่าคนอื่น จนกระทั่งถึงต้องจับตามองว่าคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วแทนที่จะป้องกันการติดเชื้อได้กลับติดเชื้อมากขึ้นและเมื่อติดเชื้อไปแล้วกลับอาการหนักมากกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่
และนี่เป็นบทพิสูจน์อีกบทหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า โควิด-19 นั้นฉลาด เจ้าเล่ห์และยอกย้อน ดังนั้น กลยุทธ์ในการต่อสู้จำเป็นต้องรู้ว่าไวรัสไปทำอะไรและข้อมูลที่จะสื่อถึงประชาชนนั้นต้องตรงตามความเป็นจริงรวมทั้งมีการแยกแยะ ไม่เพียงแต่หวังว่าจะทำให้ฟังแล้วสบายใจเฉยๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก หมอธีระวัฒน์