องคมนตรี เป็นประธานพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ร.9
องคมนตรี เป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ เขื่อนแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
วันนี้(20 ต.ค.64) เวลา 10.40 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง และนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ เขื่อนแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ และความเป็นมาของโครงการฝนหลวง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทรงอำนวยการสาธิตการทำฝนหลวงให้แก่นักวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐสิงคโปร์ได้ชม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ณ เขื่อนแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ทั้งนี้ องคมนตรีน้อมนำพระบรมราโชบายในการให้ความช่วยเหลือราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากำหนดแผน เพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์สูงสุด ปัจจุบัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทำการเกษตร และการเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ยังคงมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอจำนวน 3 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยปฏิบัติการจังหวัดตาก และหน่วยปฏิบัติการจังหวัดพิษณุโลก
การปฏิบัติการฝนหลวงทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. – 18 ต.ค.64 ได้ขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 221 วัน รวม 4,211 เที่ยวบิน (6,185:58 ชั่วโมงบิน) คิดเป็นร้อยละ 94.9 มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 64 จังหวัด ทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 187.9 ล้านไร่ และมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อน และอ่างเก็บน้ำ รวม 133 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 220.8 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในโอกาสนี้ องคมนตรี เยี่ยมชมนิทรรศการตามรอยพระบิดาแห่งฝนหลวง และร่วมปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลาสวาย จำนวน 30,000 ตัว และปลาตะเพียน จำนวน 20,000 ตัว รวม 50,000 ตัว ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้เจริญเติบโตขยายพันธุ์รักษาความสมดุลของธรรมชาติ ณ บริเวณสันเขื่อนแก่งกระจานด้วย
ในตอนบ่าย องคมนตรี พร้อมคณะ เดินทางไปยังโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด อันจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น บริเวณสะพานดำ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการ โดยมี นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี รายงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินงาน
ปัจจุบัน กรมชลประทานได้มีการดำเนินการขยายคลองส่งน้ำ ฝั่งซ้ายและฝั่งขวาตลอดจนคลองซอยและคลองระบายน้ำ D9 เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สามารถตัดยอดน้ำจากหน้าเขื่อนเพชร(ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอท่ายาง) ระบายลงทะเล โดยจะทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำแม่น้ำเพชรบุรีไม่เกินความจุ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยของตัวเมืองเพชรบุรีและประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบ จำนวน 27 เครื่อง โดยกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่เสี่ยงน้ำท่วม อาทิ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรี
ต่อจากนั้น องคมนตรี และคณะ เดินทางไปเดินทางไปยังบริเวณสะพานวัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามความพร้อมการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่บริเวณสะพานวัดเขาตะเครา จำนวน 8 เครื่อง บริเวณบ้านทุ่งเฟื้อ จำนวน 2 เครื่อง และบริเวณคันกั้นน้ำเค็มคลองต้นมะพร้าว จำนวน 2 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 12 เครื่อง เพื่อช่วยเร่งผลักดันมวลน้ำให้ระบายไหลออกทะเลได้เร็วขึ้น ทำให้มวลน้ำไม่ชะลอตัว ส่งผลดีต่อการระบายน้ำของลำน้ำเพชรบุรีและช่วยบรรเทาการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจของตัวเมืองเพชรบุรีได้เป็นอย่างดี ราษฎรชาวจังหวัดเพชรบุรี ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น