บสย.อนุมัติค้ำสินเชื่อฟื้นฟูเฟสสอง9พันล้าน
บสย.โชว์ยอดค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทะลุ 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ 50% เป็นยอดค้ำสินเชื่อฟื้นฟูธปท.ในเฟส 1 จำนวน 1 แสนล้านบาท และ เฟส 2 อีก 9 พันล้านบาท
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เปิดเผยยอดค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูเฟส 2 ตามมาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)วงเงิน 1 แสนล้านบาทว่า นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเมื่อช่วงกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้ มียอดสินเชื่อที่ได้รับการค้ำประกันจากบสย.แล้วจำนวน 3 พันราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 9 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูเฟส 2 นั้น มีวงเงินค้ำประกันอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท เปิดให้ผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กถึงรายกลางเข้ามาขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงต.ค.2566
“การค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูเฟส2นี้ เราได้ปรับเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น แต่มีผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่เข้าใจในการเตรียมตัวขอสินเชื่อ ทำให้ยอดสินเชื่อยังไม่คึกคักมากนัก ดังนั้น บสย.จึงอยากให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ติดต่อมาที่บสย.เพื่อให้คำแนะนำในการขอสินเชื่อ”
สำหรับผู้ประกอบการที่สามารถขอสินเชื่อดังกล่าวได้นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาก็สามารถเข้ามาขอสินเชื่อได้ จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการได้ทราบและเข้ามาขอสินเชื่อดังกล่าว
“มั่นใจว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูเฟส 2 วงเงิน 1 แสนล้านบาท จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้ปรับปรุงเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อให้ดียิ่งขึ้น เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ กลุ่มไมโคร และ SMEs กลุ่มเปราะบาง ช่วยลดภาระต้นทุนค่าธรรมเนียม และเพิ่มโอกาสได้วงเงินสินเชื่อเพิ่ม”
สำหรับผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อระหว่างวันที่ 1 ม.ค.ถึง 15 ต.ค.นี้ บสย.ได้อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อทุกโครงการ รวมวงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 50% เป็นการค้ำประกันผ่านโครงการสินเชื่อฟื้นฟูในเฟส 1 และ 2 นอกจากนี้ บสย.ยังได้อนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อจำนวน 1.87 แสนฉบับ ทั้งนี้ ภาระค้ำประกันสินเชื่อ ณ ไตรมาส 3 อยู่ที่ 6 แสนล้านบาท คิดเป็น 13% ของยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีในระบบ
“การอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวเป็นการสร้างสถิติค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย. รอบ 30 ปี ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 2.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.07 เท่า สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ 4.13 เท่าของวงเงินค้ำประกัน คิดเป็นมูลค่า 8.33 แสนล้านบาท ก่อเกิดการจ้างงานกว่า 2 ล้านราย ในจำนวนนี้ เป็นการจ้างงานใหม่ 3.83 แสน ราย”