"นักเคลื่อนไหวการเมือง" อยากเขียนจม. ถึงศาล ให้พิทักษ์เสรีภาพปชช.
แอมเนสตี้ เปิดเวที ประชาราษฎร์ Café "แกนนำเคลื่อนไหวการเมือง" บอก จม.จากนอกคุก คือ สิ่งเยียวยาใจ "โตโต้" อยากเขียน จม. ถึงศาล หวังเป็นที่พึ่ง - พิทักษ์สิทธิเสรีภาพ ปชช. - การเรียกร้องทางการเมือง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงาน "ประชาราษฎร์ Festival" โดยเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งมีกิจกรรมเขียนจดหมายถึงเหล่านักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ต้องคดีอยู่ในเรือนจำ ตลอดจนร่วมลงชื่อเพื่อ "ทวงคืนสิทธิประกันตัวให้เพื่อน" และ "ส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ" และรับฟังดนตรีโดยศิลปินเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วย
โดยภายในงานมีกิจกรรม 'ประชาราษฎร์ Café' เพื่อพูดคุยในประเด็นความสำคัญของจดหมายและการสื่อสารไปยังนักกิจกรรมที่ยังถูกจำคุก โดยมี รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมประชาธิปไตย , โตโต้ นายปิยะรัฐ จงเทพ กลุ่มมวลชนอาสา We Volunteer , แม่สุ นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของ เพนกวิน-นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้าร่วม
โดยน.ส.ปนัสยา กล่าวว่า ตอนที่อยู่ในเรือนจำได้รับจดหมาย รวมกันน่าจะประมาณ 20 ฉบับ ซึ่งจดหมายดังกล่าวช่วยต่อกำลังใจ เพราะอยู่ข้างในนั้นเป็นกำแพงที่ตัดขาดโลกออกจากกัน ตัวกลางมีไม่กี่ช่องทาง คือทนาย ญาติและจดหมายที่ทำให้ตนไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไป และรู้สึกว่าคุ้มที่ต้องมาอยู่ในนี้ อย่างน้อยสังคมก็เปลี่ยนไปเยอะมาก และทำให้คนตื่นรู้ได้มากแล้ว เท่านี้ก็คิดว่าคุ้มแล้ว ฉะนั้นอยากชวนให้ทุกคนเขียนจดหมายเยอะๆ ตนไม่เคยได้ของแอมเนสตี้เลยเพราะทางทัณฑสถานหญิงเข้มมากๆ และไม่มีเวลามาตรวจให้ มาได้รับจากแอมเนสตี้อีกทีตอนอยู่บ้าน และยังอ่านวนไปวนมาอยู่เช่นนั้นเหมือนเดิม
"จดหมายที่อ่านบ่อยที่สุดคือจดหมายจากอาจารย์ที่คณะ เราต้องแอบเก็บไปไว้ใต้หมอนเพราะปกติในเรือนจำเขาไม่ให้เก็บของไว้บนห้อง มีแค่ขวดน้ำ ยาหม่อง ทิชชู่ แต่ตนก็แอบเก็บจดหมายไว้เผื่อหยิบมาอ่านระหว่างวัน โดยอาจารย์เขียนว่า ขอบคุณที่ทำให้ได้เป็นรุ่นพี่คณะที่ควรเป็น ขอบคุณที่ทำให้ได้เป็นอาจารย์อย่างที่ควรเป็นและขอบคุณที่ทำให้เป็นมนุษย์อย่างที่ควรเป็น เมื่ออ่านจบแล้วก็รู้สึกขอบคุณเหมือนกันที่ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทำไปไม่สูญเปล่า" น.ส.ปนัสยากล่าว
ด้าน นางสุรีย์รัตน์ มารดาของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน เล่าถึงสิ่งช่วงเวลาที่เพนกวินเล่าเรื่องจดหมายว่า เพนกวินพูดเสมอว่าเวลาได้รับจดหมายนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้อยากมีชีวิตอยู่ มีแรงสู้ต่อไป เพราะเพนกวินอยู่คนเดียวในห้องขังแคบๆ ไม่มีเพื่อนที่จะคุยหรือปรึกษาใดๆ ได้ สิ่งเดียวที่จะได้รับรู้จากข้างนอกคือข่าวสารจากจดหมาย แต่การส่งจดหมายนั้นยาก เพราะห้ามส่งอะไรที่เกี่ยวกับการเมือง และจดหมายที่ส่งถึงเพนกวินนั้นถูกตรวจอย่างเข้มงวด
"แม้จะส่งยากเย็นแต่ก็ไม่เกินความพยายาม จดหมายนั้นเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงทุกคนไม่ใช่แค่เพนกวิน การสื่อสารด้วยจดหมายจึงสำคัญมากและทำให้ทุกคนที่ถูกกักขังมีชีวิตที่มีความหวังอยู่ ขอฝากถึงเหล่าผู้ปกครองว่า เด็กของเราเราเลี้ยงมา เรารู้ว่าเขาเป็นอย่างไร และแม้ไม่เข้าใจก็ต้องคุยกันให้มากๆ หากเราปล่อยให้คนอื่นมาทำร้ายลูกเรา เราจะไปยอมได้อย่างไร และอยากฝากไปถึงผู้มีอำนาจว่า การจับเด็ก ทำร้ายเด็ก ยิ่งทำก็ยิ่งแสดงถึงความขี้ขลาด โง่เขลา ไร้วุฒิภาวะของผู้ปกครองและผู้บริหาร ฉะนั้น สิ่งที่ยิ่งทำทุกวันก็เป็นการแสดงตัวตน อย่าคิดว่าคนอื่นเขาไม่เห็น เพราะยิ่งทำก็ยิ่งประจานตัวเองไปในตัว" นางสุรีย์รัตน์ กล่าว
ขณะที่นายปิยะรัฐ กล่าวเชิญชวนและเรียกร้องให้ทุกคนเขียนจดหมายถึงสถาบันตุลาการให้แสดงความกล้าหาญต่อการคุ้มครองสิทธิเสรรีภาพของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย และต่อสู้ทางการเมือง ในปัจจุบัน ยุคที่รัฐกำลังใช้นิติสงครามกับประชาชน พบว่าเมื่อตำรวจออกหมายจับ ศาลก็ออกหมายให้ ทั้งยังรับฝากขัง และไม่ให้ประกันตัว ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มีที่พึ่ง