รับพายุลูกใหม่ เร่งระบายน้ำเขื่อนลำตะคอง - 4 เขื่อนใหญ่ 18 อ่างขนาดกลาง น้ำเกินความจุ
โคราช เตรียมรับพายุลูกใหม่ เร่งระบายน้ำเขื่อนลำตะคอง - 4 เขื่อนใหญ่ 18 อ่างขนาดกลาง น้ำเกินความจุ กรมอุตุนิยมวิทยา เผย 27-28 ต.ค.นี้ อีสานใต้ระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ที่อาคารระบายน้ำ เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 (ชป.8) นครราชสีมา หรือ โคราช ได้ปฏิบัติการเริ่มระบายน้ำลงสู่ลำตะคองตอนล่าง อัตราวันละ 86,400 ลบ.เมตร สถานการณ์ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 331.546 ล้าน ลบ.เมตร หรือ 105.42 % ของพื้นที่ความจุและสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 50 ล้าน ลบ.เมตร
สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในการดูแลรับผิดชอบของ ชป.8 นครราชสีมา เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี 271 ล้าน.ลบ.เมตร หรือ 99 % ของพื้นที่เก็บกัก 275 ล้าน.ลบ.เมตร เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย 154 ล้าน.ลบ.เมตร หรือ 99.77 % ของพื้นที่เก็บกัก 155 ล้าน.ลบ.เมตร และเขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี 146.347 ล้าน.ลบ.เมตร หรือ 104 % ของพื้นที่เก็บกัก 141 ล้าน.ลบ.เมตร
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มีจำนวน 18 อ่าง มีปริมาณน้ำเกิน 100 % และ 3 อ่าง มีปริมาณน้ำเกิน 90 % ส่วนอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย มีน้ำ 65.21 % อ่างเก็บน้ำบึงกระโดน อ.ประทาย 23 % ของพื้นที่เก็บกัก
ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดนครราชสีมา ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วาระสำคัญกรณีการพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ในช่วงวันที่ 27-28 ต.ค. นี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก
จึงจำเป็นต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนลำตะคอง อัตราวันละ 1-1.5 ล้าน ลบ.เมตร ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคองและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ดำเนินการดังนี้
1.พื้นที่ลำตะคองตอนล่าง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา
อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.จักราช อ.โนนสูง อ.พิมาย อ.ชุมพวง อ.ลำทะเมนชัย และอ.เมืองยาง แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งริมน้ำอาจได้รับผลกระพบให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำอยู่ในภาวะเฝ้าระวังระดับการแจ้งเตือนสีน้ำเงิน โดยให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและให้เจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
2. จัดเวรเฝ้าระวังประจำตามจุดเสี่ยง เพื่อประเมินสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน หาบพบก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้อพยพประชาชนไปยังจุดอพยพที่ได้จัดเตรียมไว้ทันที
3. ให้ความสำคัญการแจ้งให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงและให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างใกล้ชิด
4. ประสานบูรณาการหน่วยงานภาครัฐเครือข่ายภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชนจิตอาสาภัยพิบัติในพื้นที่เตรียมความพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัยและกำลังพลให้มีความพร้อมปฏิบัติงานตามแผนเผชิญเหตุฯ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง
5. รายงานสถานการณ์และผลดำเนินการให้กองอำนวยการป้องกันและบรเทาสาธารณภัยทราบทันทีจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด