“จุรินทร์”โชว์ผลงาน 2 ปี สร้าง 27 ผลงานเด่น พร้อมเดินหน้าสร้างผลงานปี 3
พาณิชย์ แถลงผลงาน 2 ปี เผยมี 27 ผลงานเด่น ทั้งประกันรายได้ ผลักดันราคาผลไม้ ตั้งกรอ.พาณิชย์ แก้ปัญหาอุปสรรคดันยอดส่งออกไทย บุกตลาดเมืองรอง ชูความสำเร็จลงนามอาร์เซ็ป ยันเดินหน้าสร้างผลงานปี 3 ต่อเนื่อง
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุขที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แถลงผลงาน 2 ปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลงานของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในภารกิจ 2 ปีที่ผ่านมา มีผลงานเด่นทั้งหมด 27 ผลงาน อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกร พืชหลัก 5 ชนิด ช่วยเหลือเกษตรกรทั้งสิ้น 7.8 ล้านครัวเรือน ข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน ยางพารา 1.83 ล้านครัวเรือน มันสำปะหลัง 0.52 ล้านครัวเรือนปาล์มน้ำมัน 0.37 ล้านครัวเรือน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 0.45 ล้านครัวเรือน ซึ่งเงินส่วนต่างทุกบาทจากโครงการประกันรายได้ส่งถึงมือเกษตรกรผ่านธนาคาร ธ.ก.ส. ทำให้เงินที่อยู่ในมือเกษตรกรหมุนเวียนช่วยเศรษฐกิจฐานรากในภาวะวิกฤตโควิด
นอกจากนี้ยังผลักดันราคาผลไม้ได้ดีเกือบทุกตัวช่วยชาวสวนได้ 6.54 แสนครัวเรือน โดยในช่วง 8 เดือนแรก ปี 64 การส่งออกผลไม้ มีมูลค่า 169,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.29% และยังมีมาตรการเสริมอื่นช่วย เช่น สนับสนุนกล่องพร้อมค่าจัดส่ง กระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต และสนับรถเร่-รถโมบาย ไปรับซื้อและจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง ประสานงานกับตลาดห้างท้องถิ่นและปั๊มน้ำมันเปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้กับเกษตรกร จัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจเจรจาออนไลน์ขายผลไม้เป็นต้นและยังผลักดัน เคาน์เตอร์เทรด“ช่วยเกษตรกรหาตลาด”แลกเปลี่ยนสินค้า หาตลาดล่วงหน้า ผ่านทีมเซลส์แมนจังหวัดชูนโยบาย เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต ให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารคุณภาพมาตรฐานโลก
นางมัลลิกา กล่าวว่า ในด้านการส่งออก ได้มีการตั้งกรอ.พาณิชย์ โดยให้แอกชนเป็นทัพหน้า ภาครัฐเป็นกองหนุน บุกตลาดส่งออกทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมมือแก้ไขปัญหาและอุปสรรคอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที ทั้งการส่งเสริมการส่งออกข้าวไทย การแก้ปัญหาโลจิสติกส์และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทางด้านการเปิดด่าน และปรับบทบาททูตพาณิชย์เป็นเซลล์แมนประเทศ พาณิชย์จังหวัดเป็นเซลล์แมนจังหวัด เพื่อขยายการค้าไทยส่งเสริมการขายสินค้าผลักการส่งออกและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการค้าทำหน้าที่เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนสินค้า มีการจับคู่เซลล์แมนจังหวัดนำสินค้าท้องถิ่นไปขายต่างประเทศ จับคู่เจรจาการค้ากว่า 213 คู่ ส่งมอบสินค้าแล้ว 77 คู่ มีสินค้าหลากหลายทั่วทุกภูมิภาคทั่วไทย พร้อมกันนี้ยังเร่งผลักดันการค้าชายแดน ผ่านแดน สามารถผลักดันการเปิดด่านได้ 46 ด่าน จาก 97 ด่าน สำเร็จ
รวมทั้งการบุกตลาดเมืองรองด้วย Mini FTA โดยสำเร็จแล้ว 2 แห่ง MOU กับไห่หนาน (จีน)ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 12,000 ล้านบาท ภายใน 2 ปี MOU กับโคฟุ (ญี่ปุ่น) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่ต่ำกว่า 15,500 ล้านบาท ในปี 64 และจะทำเพิ่มอีก 3 แห่งคือ กานชู (จีน) เตลังคานา (อินเดีย) และคยองกี (เกาหลีใต้) รวมทั้งการผลักดันขายสินค้าทั่วโลกผ่านการลงนามเอ็มโอยู การส่งเสริมการค้าออนไลน์ผ่าน Thaitrade.com ส่งเสริมการค้ารูปแบบใหม่ สู่ New Normal
ในส่วนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการผลักดันการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ป( RCEP) 15 ประเทศ สำเร็จ หลังจากมีความพยายามมานานถึง 7 ปี ทำให้ได้รับการยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที 29,891 รายการ ซึ่งคาดว่าเริ่มใช้บังคับได้ม.ค. 2565 ซึ่ง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ประชากรรวมกัน 30.2% ของประชากรโลก มูลค่า GDP รวม 33.6% ของ GDP โลก มูลค่าการค้ารวม 30.3% ของมูลค่าการค้าโลก ขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการในการส่งออกสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง
ด้านการลดค่าครองชีพ นายจุรินทร์ ได้จัดโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ทำแล้ว 12 Lot เริ่มตั้งแต่ 16 เม.ย. 2563 ถึง 31 ก.ค. 2564 ลดภาระค่าครองชีพกว่า 4,300 ล้านบาท ร่วมมือกับผู้ผลิต-ผู้จำหน่ายสินค้า อุปโภคบริโภค ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ ห้างท้องถิ่น ร้านค้าชุมชนทั่วประเทศ ร้านอาหาร ด้านสินค้าและด้านขนส่ง และมีโครงการ “คาราวานธงฟ้าฝ่าภัย COVID-19” ในส่วนภูมิภาค ส่งรถเร่จำนวน 685 คันจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในราคาประหยัดใน 7 จังหวัด. โครงการรถโมบายพาณิชย์ ลดราคา! ช่วยประชาชน จัดรถโมบาย 1,000 คัน ทั่วประเทศ ช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 (ระลอก 3)กรุงเทพฯ จำนวน 50 คัน ส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด จำนวน 950 คัน มีประชาชนมาซื้อสินค้า 1,300,000 คน มูลค่าการจำหน่ายรวม 200 ล้านบาท สามารถลดค่าครองชีพรวม 85.85 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังจัดทำโครงการ”จับคู่กู้เงิน”ให้กับร้านอาหารและ SMEs ส่งออก เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินจากผลระทบโควิด โดยทั้ง 2 โครงการช่วยกู้ได้ 4,512 ล้าน ช่วย SMEs และ Micro SMEs พัฒนาศักยภาพและการตลาด ผ่านเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club 12,873 ราย สำหรับต่างประเทศ เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพ กิจกรรมการตลาด และรับคำปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศ 73,230 ราย ทุกภารกิจของการส่งเสริมการส่งออกให้เพิ่มโอกาส SMEs ในสัดส่วน 10-15% ช่วยเพิ่ม SMEs ได้ 57,890 ราย ซึ่ง SMEs ทั้งประเทศมีจำนวน 3,134,442 ราย
ส่วนผลงานอื่นๆเช่น ช่วยซาเล้ง ยกระดับราคาเศษกระดาษ สร้างสมาร์ทโชวห่วย เพื่อให้ร้านโชวห่วยพัฒนาและอยู่คู่กับชุมชน สร้างอาชีพจากธุรกิจแฟรนไชส์ โครงการอบรมสร้างนักธุรกิจยุคใหม่ โครงการปั้น CEO Gen Z การเช็คราคายา-ค่าบริการ โรงพยาบาลเอกชน โดยแสดงผลผ่านระบบ QR Code เพื่อเปิดเผยให้ประชาชนทราบก่อนการรักษา เน้นความเป็นธรรมในการรับบริการ การทำMOC Online One Stop Serviceลดขั้นตอนการให้บริการ ในด้านต่างๆ ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ด้วยระบบออนไลน์ 85 บริการ ทั้งกระทรวง โดยสามารถเข้าใช้บริการได้ที่ www.moc.go.th ดันทุกจังหวัดมีสินค้า GI พัฒนาส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยโดยใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตร ลดระยะเวลาการจดทะเบียน ส่งเสริมศิลปาชีพของคนไทย ปฏิรูปองค์กร อย่างเป็นรูปธรรม
“ทั้งนี้นายจุรินทร์จะติดตามนโยบายยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยมอบให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าติดตามภารกิจทั้งหมด 27 ภารกิจนี้ รายงานความคืบหน้าทุก 2 สัปดาห์ ส่วนนโยบายเดินหน้าภารกิจปีที่ 3 จะทำต่อไป “ทำได้ไว ทำได้จริง” เชื่อมประสานกับทุกภาคส่วนของสังคมและประเทศในการให้บริการประชาชนและผลักดันนโยบายต่อไป”นางมัลลิกา กล่าว