ปุ๋ยเคมีขาดตลาด "ยูเรีย" ราคาพุ่งสูงสุดรอบ 13 ปี
ผู้ค้าปุ๋ยเคมี เผย “จีน-รัสเซีย”ผู้ผลิตใหญ่ลดส่งออก ส่งผลสินค้าขาดตลาด โรงงานใหญ่ ชี้ มีสต๊อกเก่าพร้อมเทขาย ด้านโรงงานเล็กของขาดครึ่งปี ห่วงสถานการณ์รุนแรงถึงไตรมาส 1 ปีหน้า พาณิชย์
แหล่งข่าววงการค้าปุ๋ยเคมี เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจีนจำกัดการส่งออกปุ๋ยเคมี หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว และรัฐบาลสนับสนุนการปลูกพืชจีเอ็มโอเพิ่มขึ้น ขณะที่ไทยจะนำเข้าปุ๋ยที่เรียกว่าเป็นตัวกลาง สูตร 18-46-0 พอจีนส่งออกน้อยลงหรือไม่ส่งออกเลย ส่งผลให้ราคาปุ๋ยทุกสูตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเท่าตัว ยังผลสินค้าปุ๋ยเคมีในไทยขาดแคลนและราคาสูงตามไปด้วย สินค้าหรือสต๊อกที่มีอยู่ก็ขายแบบหมดแล้วหมดเลย
ประกอบกับประเทศไทยในช่วงนี้หมดฤดูการใช้ปุ๋ยมาก ๆ แล้ว ราคาปลายปีจะปรับลดลงมา ทุกบริษัทคาดการณ์กันแบบนี้ จึงยังไม่สั่งของ เพราะเวลาราคาลงบริษัทขาดทุน จากก่อนหน้านี้หลายบริษัทเข็ด จากสั่งเข้ามาแล้วปลายปีราคาลง เคยขาดทุนหนักกันมาแล้ว ก็กลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย
อย่างไรก็ดี เวลานี้ราคาปุ๋ยไม่ได้ปรับตัวลดลงเช่นทุกปี แต่กลับพุ่งสูงขึ้น จากโรงงานประเทศผู้ผลิตลดการผลิตจากผลกระทบโควิด และเวลานี้ราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ราคาแม่ปุ๋ยยูเรียในตลาดล่วงหน้าทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี และยังขึ้นไม่หยุด ทำให้ผู้นำเข้าไม่กล้าซื้อ
“ตอนนี้ทำให้ปุ๋ยเคมีขาดตลาดรุนแรงมาก คาดว่าไตรมาสแรกของปี 2565 ปุ๋ยจะขาดตลาดเกือบทุกสูตร หรือถ้ามีก็มีน้อย แล้วจะแพง ตอนนี้หยุดขายหลายบริษัทแล้ว โดยเฉพาะบริษัทเล็กไม่มีของขายมาเกือบครึ่งปีแล้ว เพราะรัฐบาลควบคุมราคา ทำให้ขาดทุน ในส่วนของบริษัทยังมีสต๊อกพอขายเองได้ แต่ไม่สามารถที่จะส่งให้โรงงานเล็กขายได้เพราะของมีน้อย”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับปุ๋ยเคมี “สูตร 0-0-60” หรือ โพแทสเซียมคลอไรด์ ความจริงตัวนี้มีการนำเข้าฝั่งจากประเทศยุโรป รัสเซีย และจีน (มีเหมืองที่ลาว ส่งตรงมาขายไทย) แต่ลาว เป็นบริษัทจีน พอรัฐบาลไม่ให้ส่งออก ให้เก็บไปใช้ในประเทศทั้งหมด ทำให้ปรับราคาขึ้น หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ราคาสินค้าจะถูกมากในทุกสูตร แต่พอมาปีนี้ราคาพุ่งสูงถึง 2 หมื่นกว่าบาทต่อตัน(รวมค่าขนส่ง) ซึ่งผลจากที่จีนไม่ส่งออกปุ๋ยก็กระทบตลาดโลก และกระทบถึงไทยด้วย
จากปัญหาปุ๋ยขาดแคลนและสินค้านำเข้ามีต้นทุนที่สูงขึ้นมากนี้ ประมาณวันที่ 27 ตุลาคมนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย เข้าไปหารือ โดยหากไม่ให้ปรับราคา หลายบริษัทก็คงไม่นำเข้า เพราะราคาแพงและสินค้ามีน้อย ส่วนโรงงานใหญ่ที่ยังพอมีสต๊อกคงปล่อยของเพื่อไม่ให้เสียลูกค้าประจำ
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า ในภาพรวมราคาปุ๋ยทั้งในและต่างประเทศยังไม่นิ่ง แต่ละบริษัทจะต้องตัดสินใจจะสั่งนำเข้าหรือไม่สั่งนำเข้า วันนี้สมาคมฯได้พยายามพูดกับกระทรวงพาณิชย์ว่าจะให้ทำอย่างไร เพราะถ้าไม่สามารถทำให้บริษัทพอมีกำไรและอยู่ได้ คิดว่าหลายบริษัทก็คงจะไม่สั่ง เพราะสั่งมาแล้วหากรัฐบางควบคุมราคา ก็ขายไม่ได้ จากราคาแพงเกินไปและผู้ค้าจะขาดทุน ทั้งนี้ในข้อเท็จจริงผู้ค้าก็อยากขายของ ไม่อยากที่จะปรับราคาสูงจนเกินไป จากทราบดีว่าเกษตรกรไม่มีกำลังที่จะซื้อในราคาสูงมาก
“ประเทศจีนหันมาปลูกพืชจีเอ็มโอ ส่งเสริมให้ทำเกษตรในประเทศมากขึ้น ไม่ให้ส่งออกปุ๋ย มีการปิดท่าเรือหลายแห่ง และเก็บสต๊อกสินค้า ปล่อยให้ราคาขึ้น ส่วนรัสเซียอีกหนึ่งผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีรายใหญ่ ตอนนี้ก็ยังมีการล็อกดาวน์ประเทศ กระทบกับการนำเข้าปุ๋ยของไทยแน่นอน”
นายเปล่งศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาธุรกิจ “ปุ๋ยเคมี” ตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองทุกยุคทุกสมัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในข้อเท็จจริงหากใช้ให้ถูกต้องตามข้อกำหนดปุ๋ยเคมี ไม่เป็นอันตราย และช่วยเพิ่มผลผลิต ดังนั้นต้องยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง ปัจจุบันเกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาราคาและผลผลิตต่อไร่ต่ำ ตรงนี้ควรจะมาหาทางแก้ไข ส่วนราคาปุ๋ยเป็นราคาตามตลาดโลก ผู้ค้าไม่ได้เป็นคนกำหนดราคา มีลักษณะซื้อมาขายไป ต้องขอทำความเข้าใจด้วย
แหล่งข่าวจากเกษตรกร กล่าวว่า ราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้นสร้างภาระเพิ่มให้เกษตรกร เวลานี้ทำให้ต้นทุนในการทำไร่นาสูงขึ้นมากถึง 500-800 บาทต่อไร่ ซึ่งหากดูจากผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาทั่วประทศเฉลี่ยเพียง 643 กิโลกรัม(กก.)ต่อไร่ ส่วนข้าวโพดได้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 713 กก.ต่อไร่ ถือว่ายังต่ำกว่าศักยภาพผลผลิตที่ควรได้อยู่มาก มีผลให้รายได้สุทธิหลังหักต้นทุนผลผลิตของเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา ชาวไร่ลดลงอย่างมาก
จากก่อนหน้านี้ก่อนปุ๋ยขึ้นราคารายได้ของเกษตรกรรายเล็กส่วนใหญ่ก็แทบไม่พอกินอยู่แล้ว ไหนจะมีภาระหนี้สินที่เกิดจากทำไร่ทำนารอบตัวอีก หากภาครัฐไม่หันมาปฏิรูปพัฒนาภาคเกษตรอย่างจริงจังและจริงใจแล้ว อนาคตอาชีพของเกษตรกรไทยคงต้องไปอยู่ในมือของนายทุนใหญ่อย่างแน่นอน