กทม.ปลุกแลนด์มาร์ค "คลองช่องนนทรี" บิ๊กโปรเจ็คใหม่ใจกลางเมือง
"พงศกร" โฆษก กทม.เปิด 7 ข้อดี บิ๊กโปรเจ็คแลนด์มาร์ค "คลองช่องนนทรี" แก้น้ำท่วม-เชื่อมย่านธุรกิจใจกลางเมือง แล้วเสร็จเฟสแรก ธ.ค.นี้
วันที่ 29 ต.ค. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร(กทม.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค หัวข้อ 7 ข้อดี ตามแนวคิดของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีว่า จากที่หลายๆ คนได้เห็นความคืบหน้าของการก่อสร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี คลองกลางย่านศูนย์กลางธุรกิจซึ่งเป็นหนึ่งของโครงการฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต (Regenerative Bangkok) ในการพัฒนาสุขภาพคนควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคสีฟ้า เขียวของ กทม. (Bangkok Blue Green Infrastructure) ที่จะเพิ่มประโยชน์คลองที่มากกว่าระบบระบายน้ำ สร้างพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว ทางเท้า สะพาน ถนน ที่มีอยู่แล้วให้ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี เป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองของคนที่คิดว่าคลองใช้เพียงเพื่อระบายน้ำฝนและน้ำเสีย ให้กลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเมือง สวนสาธารณะ และสถานที่พักผ่อนในย่านธุรกิจใจกลางเมือง ผมได้สรุปข้อดีที่จะได้จากการพัฒนาคลองช่องนนทรี มาได้ 7 ข้อดังนี้
1.เป็นแก้มลิงของเมือง เนื่องจากโครงสร้างริมคลองเดิมเป็นเขื่อนคอนกรีต เมื่อมีฝนตกลงมาน้ำจะไหลลงคลองได้น้อยเพราะติดโครงสร้างที่เป็นคอนกรีต การฟื้นฟูคลองตามแนวคิด Nature Based Solution จะเพิ่มพื้นที่รับน้ำเป็นแก้มลิง ด้วยการลดระดับเขื่อนคอนกรีตลง เพื่อสร้างตลิ่งธรรมชาติเพื่อให้น้ำไหลลงคลองได้ดีขึ้น
2.สร้างระบบระบายน้ำ แยกน้ำดีกับน้ำเสีย โดยสร้างท่อระบายน้ำใต้คลองเพื่อรองรับน้ำเสีย โดยจะปล่อยให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำฝนที่ไหลลงคลอง ที่จะทำให้น้ำในคลองเป็นน้ำดีและสะอาด และเพิ่ม Rain Garden ช่วยชะลอความแรงของน้ำก่อนไหลลงคลองได้ด้วย
3.ปรับปรุงโครงข่ายการจัดการน้ำฝนและน้ำเสีย มีระบบบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนไม่ให้ไหลลงคลอง จะถูกนำมาบำบัดจนกลายเป็นน้ำดีเพื่อนำกลับสู่คลองและแยกส่วนที่เป็นน้ำเสียให้ไหลลงท่อระบายน้ำเสียต่อไป
4.เพิ่ม Recreation Space แบบชานบ้านไทย เพื่อเพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมในรูปแบบชานบ้านไทยริมคลอง และแพริมคลอง
5.เชื่อมเมือง เป็นการเชื่อม 2 ฝั่งคลองให้เดินทางได้ง่ายขึ้น ด้วยการเพิ่มสะพานข้ามคลองเป็นจุดเชื่อมต่อกับทางม้าลายและสถานีBTS ซึ่งเป็นแนวราบ สะดวกกับทุกคนด้วยการออกแบบด้วย Universal Design
6.ไม่ดาดท้องคลอง คงสภาพท้องคลองไว้ตามธรรมชาติเพื่อรักษาระบบนิเวศ
7.เชื่อมย่านธุรกิจใจกลางเมือง ด้วยทางเดินริมน้ำที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ตลอดริมคลอง และรองรับเส้นทางสำหรับขนส่งมวลชนในอนาคตที่อาจเปลี่ยนแปลงและเพิ่มขึ้นได้อย่างลงตัว
ร.ต.อ.พงศกร ระบุว่า การพัฒนาคลองช่องนนทรีจะเป็นต้นแบบของคลองที่เหมาะสมกับบริบทของความเป็นกรุงเทพฯ เมืองน้ำที่ลุ่ม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี จะพัฒนาเสร็จในช่วงที่ 2 เริ่มจากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ก่อนเป็นเฟสแรก ซึ่งจะเปิดให้ทุกคนได้ใช้ในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 และจะก่อสร้างเสร็จทั้งโครงการระยะทางไป-กลับ 9 กิโลเมตรในเดือนสิงหาคม 2565
"เพื่อที่ทุกๆ คน จะได้ใช้สวนสาธารณะแห่งนี้ร่วมกัน ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองให้ได้มีสถานที่พักผ่อนใจกลางเมืองเพิ่มขึ้น และยังเป็น Landmark ให้ คนในชุมชนได้สัญจร ออกกำลังกาย และนักท่องเที่ยวได้ให้มาเที่ยวกรุงเทพมหานคร เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย"ร.ต.อ.พงศกร ระบุ