‘ก.พ.’​ กำหนดวันสอบปี 64 แล้ว อยากสมัครปีหน้า ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?

‘ก.พ.’​ กำหนดวันสอบปี 64 แล้ว อยากสมัครปีหน้า ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?

อยากสอบ ‘ก.พ.’ เป็น ‘ข้าราชการ’ ต้องทำอย่างไร ? หลังสำนักงาน ก.พ. ประกาศวันสอบข้อเขียนเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปประจำปี 2564 วันที่ 23 และ 20 ก.พ.2565

สำนักงาน "ก.พ." มีประกาศ เลื่อนกำหนดการสอบเพื่อวัดความรู้ ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2564 (ครั้งที่ 3) เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 โดยกำหนดการสอบข้อเขียนเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปประจำปี 2564 เป็นวันอาทิตย์ที่ 23 ม.ค.2565 และวันอาทิตย์ที่ 20 ก.พ.2565 

โดยจะประกาศกำหนดวัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบเกี่ยวกับการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2564 ภายในวันที่ 20 ธ.ค.2564 ทางเว็บไซต์สำนักงาน ก.พ. 

ทั้งนี้ กำหนดการสอบอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมโดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสCOVID-19 และข้อกำหนดของทางราชการ

  •   ก.พ. คืออะไร ? 

“ก.พ.” ย่อมาจาก “สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นองค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการบริหารกำลังคนในราชการให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สอบ ‘ก.พ.’ เป็น ‘ข้าราชการ’ ได้ ‘สวัสดิการ’ อะไรบ้าง ?

ซึ่งการสอบ ก.พ. เป็นกระบวนการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าไปทำงานให้กับหน่วยงานราชการ และสามารถทำงานตามนโยบายของรัฐบาลได้

หมายความว่าถ้าหากทำข้อสอบ ก.พ. ผ่านในรอบต่างๆ ตามหลักสูตรที่กำหนด ก็จะสามารถทำงานในหน่วยงานราชการได้ พูดง่ายๆ คือ ก.พ. ถือเป็นด่านแรกที่ผู้ที่ต้องการเข้าทำงานในระบบราชการต้องผ่านไปให้ได้

  •  อยากสมัครสอบ ก.พ. ต้องเตรียมตัวอย่างไร ? 

ผู้สมัครสอบ ก.พ. จะต้องเตรียมตัวสอบทั้งหมด 3 ภาค และต้องสอบให้ผ่านทุกภาค ดังนี้

 

1) ภาค ก การสอบภาคความรู้ ความสามารถทั่วไป

เป็นการทำแบบทดสอบที่วัดระดับเชาว์ปัญญา ทุกคนที่จะสอบบรรจุข้าราชการต้องสอบภาค ก (เมื่อสอบผ่านแล้วสามารถใช้ได้ตลอดชีพ ไม่ต้องสอบใหม่อีก)

การสอบ ภาค ก. จะแบ่งเป็น 3 วิชา คือ

 

– ทดสอบวิชาความสามารถทั่วไป : ด้านการคิดคำนวณ และด้านการให้เหตุผล คะแนนเต็ม 100 คะแนน ( ป.ตรี ป.โท ต้องทำให้ 36 ข้อขึ้นไปถึงผ่าน)


– ทดสอบวิชาภาษาไทย : ด้านการเข้าใจภาษา ซึ่งจะทดสอบโดยการการอ่านและการทำความเข้าใจบทความ การเขียนประโยคให้ถูกต้องตามหลักภาษา จำนวน 40 ข้อ คะแนนเต็ม 50 คะแนน


– ทดสอบวิชาภาษาอังกฤษ : ทดสอบความรู้ในการใช้ภาษาอังกฤษเบื้องต้นจากการ ฟัง พูด อ่าน เขียน คะแนนเต็ม 50 คะแนน ข้อสอบแยกเป็นระดับวุฒิการศึกษา

  

2) ภาค ข การสอบภาคความสามารถเฉพาะตำแหน่ง

เป็นการสอบที่เน้นใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง เช่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ, นิติกร, เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน เป็นต้น โดยข้อสอบจะเป็นการสอบแบบข้อเขียน  (และผู้สอบต้องนำหนังสือรับรองมายืนยันว่าได้สอบผ่าน ภาค ก. แล้วจึงจะสมัครได้)

 

3) ภาค ค การสอบสัมภาษณ์

เป็นการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ เพื่อดูถึงความเหมาะสมกับตำแหน่ง  อาจมีการทดสอบอย่างอื่นเพิ่มก็ได้ เช่น ทดสอบร่างกาย หรือ ทดสอบจิตวิทยา เป็นต้น

 

  •  อยาก "สมัครสอบ ก.พ." ต้องทำอย่างไร ? 

สำนักงาน ก.พ. จะมีการเปิดรับสมัครสอบเป็นประจำทุกๆ ปี ซึ่งสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.

โดยการสอบข้อเขียนเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปประจำปี 2564 ได้ปิดรับสมัครไปแล้ว ตั้งแต่เดือน ก.พ. 64 หากสนใจสอบ ก.พ. จะต้องรอสมัครสอบในปีถัดไป 

 

ที่มา: Thai PBS, สำนักงาน ก.พ.