คลายล็อคดาวน์ดันดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายใต้ไตรมาส 3 ดีขึ้น
สนค. จับมือ ศอ.บต. สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ พบไตรมาส 3/64 ดัชนีดีขึ้นทุกตัว เว้นด้านความมั่นคง หลังรัฐคลายล็อกดาวน์ ออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ และขายผลผลิตในพื้นที่ เชื่อเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ รับอานิสงส์จากท่องเที่ยว-ค้าชายแดน
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ ที่สนค.ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) สำรวจความเห็นจากประชาชน 34,000 คนในพื้นที่ จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ช่วงเดือนก.ย.64 ว่า ดัชนีปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ และทุกจังหวัด ยกเว้นดัชนีด้านความมั่นคงที่ลดลง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 51.87 เพิ่มจาก 50.90 ในไตรมาส 2/64 ส่วนดัชนีในปัจจุบัน อยู่ที่ 48.14 เพิ่มจาก 47.45 และดัชนีในอนาคต อยู่ที่ 54.88 เพิ่มจาก 52.34 เป็นผลจากดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ ดีขึ้นมาอยู่ที่ 50.58 เพิ่มจาก 48.00 และด้านสังคม อยู่ที่ 50.88 เพิ่มจาก 50.24 ยกเว้นด้านความมั่นคง ลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 54.15 ลดจาก 54.45 โดยจังหวัดสตูล มีความเชื่อมั่นสูงสุด ตามด้วยสงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
“ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นมาจากรัฐบาลบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจการบางส่วนกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง และประชาชนกลับมาใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติมากขึ้น ประกอบการ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เช่น คนละครึ่ง รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรสำคัญในพื้นที่ เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง ออกสู่ท้องตลาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ส่วนหนึ่ง โดยประชาชน คาดว่า สถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้นในอนาคต แม้มาตรการกระตุ้นของภาครัฐหมดลงสิ้นปีนี้ เพราะรัฐยังมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้อย่างต่อเนื่อง”
สำหรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นั้น ผลสำรวจพบว่า ประชาชน 52.77% ได้รับผลกระทบ ทำให้รายได้ของกิจการลดลง ได้รับค่าจ้างลดลง ปิดกิจการ ถูกเลิกจ้าง และถูกพักงาน จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ไขและช่วยเหลือ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนเรื้อรัง, การระบาดของโควิด-19, ยาเสพติด, สิทธิและความเป็นธรรมในสังคม, การศึกษาและการใช้ภาษาไทย, ความไม่สงบในพื้นที่, โครงสร้างพื้นฐาน ความเพียงพอของสินค้าอุปโภคบริโภค, ปัญหาต้นทุนปัจจัยการผลิต เป็นต้น
ด้านพล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การจัดทำดัชนีเชื่อมั่นนี้ จะทำให้เห็นว่า ด้านใดของพื้นที่มีจุดอ่อน และจุดแข็ง ซึ่งจะช่วยให้ทุกภาคส่วนเร่งช่วยกันแก้ไข เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ดีกินดี มีความมั่นคง ปลอดภัย และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจเข้าไปลงทุนในพื้นที่ได้มากขึ้น ส่วนการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ ในระยะสั้น พื้นที่ 5 จังหวัดจะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว และการเปิดด่านการค้า ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น มีเงินสะพัดมากขึ้น โดยในช่วงปี 61-62 ในพื้นที่ มีรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และคนไทย เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 1.5 ล้านล้านบาท เป็น 1.7 ล้านล้านบาท และคาดปี 63 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านบาท แต่มีปัญหาโควิดเสียก่อน แต่ปี 65 เมื่อการท่องเที่ยวกลับมา รายได้จะใกล้เคียง 2 ล้านล้านบาทแน่นอน